รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -7.1

2. ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.7

3. เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรไตรมาส 3 โตแกร่งสุดในรอบ 3 ปี

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -7.1
  • นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย.56 มีมูลค่า 19,303 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.09 และเป็นอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน หรือ คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 605,589 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.58 อย่างไรก็ตาม แม้ยอดการส่งออกยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนยังไม่ถอดใจ โดยจะร่วมกันผลักดันการส่งออกทั้งปีให้เป็นไปตามเป้าที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ทั้งนี้ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่ากรมฯ ได้ประเมินการขยายตัวการส่งออกในปี 56 ไว้หลายแนวทาง หากส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของไทย (ต.ค.-ธ.ค.) อยู่ในระดับ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกทั้งปีจะโตที่ร้อยละ 4 หากอยู่ในระดับ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนส่งออกทั้งปีจะโตที่ร้อยละ 2.6 และหากอยู่ที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 1.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในเดือน ก.ย. 56 หดตัวเร่งขึ้น โดยเป็นผลมาจาก 1) ปัจจัยฐานสูงในปี 55 ที่ไทยมีการส่งออกทองคำเป็นจำนวนมาก 2) การลดลงของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา และกุ้งแช่แข็งและแปรรูป และ 3) มูลค่าตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวชะลอลง อาทิ ตลาดส่งออกญี่ปุ่นที่หดตัวร้อยละ -13.6 ตามความต้องการนำเข้าสินค้าลดลงจากปัจจัยค่าเงินเยนอ่อนลงมาก รวมถึงตลาดส่งออกสหภาพยุโรป 15 หดตัวร้อยละ -2.7 เนื่องจากเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ ตลาดออสเตรเลียหดตัวอย่างรุนแรงร้อยละ -30.7 ในหมวดสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้รับผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.8 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
2. ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.7
  • รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 56 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.2 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยการบริโภคในประเทศที่พักฐานยาวนานกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่แรงกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐต่ำเช่นกัน ส่วนภาคการส่งออกบางภาคอุตสาหกรรมยังมีข้อจำกัด ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 56 ของธปท. นั้นสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจไทยของสศค. ที่ประมาณการไว้ ณ เดือน ก.ย. 56 ที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์อยูที่ร้อยละ 3.5 - 4.0) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่ต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ เนื่องจากมีการขยายตัวในอัตราเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ภาครัฐคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 56 โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.7 และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.3 ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้า
3. เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรไตรมาส 3 โตแกร่งสุดในรอบ 3 ปี
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรเปิดเผยข้อมูลอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่ 3 นี้เศรษฐกิจได้ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.8 นับเป็นอัตราการเติบโตระหว่าง ไตรมาสที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 53 โดยการขยายตัวดังกล่าวมีที่มาจากทุกๆสาขาการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง และภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ดี ขนาดของเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรในปัจจุบันยังไม่สามารถกลับสู่จุดเดิมในช่วงต้นปี 51 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤติได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของสหราชอาณาจักรจะเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่จะเพิ่มความชัดเจนของภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และยังมีการเติบโตด้านการค้าซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีมูลค่าการค้าขายสินค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 55 อย่างไรก็ดี หากจะวิเคราะห์นัยยะทางเศรษฐกิจของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใหญ่ของโลกต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปของสถานการณ์การค้าของไทยได้ดีนักในปัจจุบัน เนื่องจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งๆที่ประเทศคู่ค้าหลักมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัญหาภายในของไทยเองเป็นสำคัญ เช่น การย้ายฐานการผลิต ปัญหาโรคในกุ้ง และการเปลี่ยนโครงสร้างของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ