รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2013 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2556

Summary:

1. สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ของไทยเดือน ก.ย.ลดลงร้อยละ -2.9 คาดปีนี้อาจติดลบ

2. วอนรัฐลดภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ

3. CEO เอเชีย-แปซิฟิก มั่นใจอนาคตธุรกิจ-รายได้โต ชี้ "อินโดนีเซีย-เมียนมาร์-จีน" แหล่งลงทุนฮอต เป็น"ม้ามืด"ใน 3-5 ปี

Highlight:

1. สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ของไทยเดือน ก.ย. ลดลงร้อยละ -2.9 คาดปีนี้อาจติดลบ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยเดือน ก.ย. อยู่ที่ 172.7 ลดลงร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -2.8 และเป็นการการลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ทั้งนี้ สศอ. คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยในปีนี้มีโอกาสติดลบจากที่เคยคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-1.0 หลังฐานในปี 55 สูงผิดปกติ เนื่องจากมีการเร่งผลิตหลังน้ำท่วม และ ความต้องการซื้อจากคู่ค้าสำคัญชะลอลง ขณะที่สินค้าหลายตัวเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.56) ดัชนี MPI ของไทย ลดลงร้อยละ -1.87 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาสหกรรม (MPI) ที่หดตัวต่อเนือง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนี MPI หดตัวในเดือนก.ย. 56 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า (2) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่หดตัวร้อยละ -13.6 ตามการผลิตสินค้าในหมวดอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งเป็นหลัก จากโรคตายด่วนในกุ้งและราคาที่ผันผวนของปลาทูน่า ทำให้ขาดวัตถุดิบในการผลิต ในขณะที่ผลผลิตเบียร์มีการชะลอการผลิตเนื่องจากกรมสรรพสามิตมีการปรับโครงสร้างภาษีในการจัดเก็บ และ (3) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศลดลงตามค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่ม อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากการผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบินเพื่อการส่งออกมากขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศก็ยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกันตามการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
2. วอนรัฐลดภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด สทท. ได้เสนอให้รัฐเพิ่มวงเงินหัก ลดหย่อนภาษีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นปีละ 3 หมื่นบาท โดยสามารถนำใบเสร็จโรงแรม ที่พักที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งค่าท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์มาใช้ในการขอหักลดหย่อนได้ จากเดิมที่หักลดหย่อนได้ปีละ 15,000 บาท และต้องเดินทางผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น ซึ่งได้เสนอขอหักลดหย่อนได้ 3 ปี ระหว่างปี 2557 - 2559 เพื่อกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ตามนโยบายเพิ่มรายได้ตลาดในประเทศในปีหน้าเป็น 7 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่มีรายได้ 490,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นสาขาการผลิตสำคัญที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยจำนวนมาก สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย .56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 19.50 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.0 โดยมาจากนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และมาเลเซีย เป็นหลัก นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 สามารถสร้างรายได้รวมให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 8.84 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.7 ต่อปี และ สศค. คาดว่าทั้งปี 56 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 27.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.8 ต่อปี โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.22 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีอยู่แล้วให้เติบโตมากขึ้น
3. CEO เอเชีย-แปซิฟิก มั่นใจอนาคตธุรกิจ-รายได้โต ชี้ "อินโดนีเซีย-เมียนมาร์-จีน" แหล่งลงทุนฮอต เป็น"ม้ามืด"ใน 3-5 ปี
  • PricewaterhouseCoopers เผยผลสำรวจ APEC CEO Survey 2013 ซึ่งจัดทำระหว่างเดือน มิ.ย - ส.ค. 56 ระบุว่า CEO ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกยังมั่นใจการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวเนื่องจากภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกนี้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูง พร้อมเผย อินโดนีเซีย - เมียนมาร์ - จีน เป็นม้ามืด หรือแหล่งลงทุนฮอตของภูมิภาคในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า แต่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศตื่นตัวเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย - ระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ท่าเรือ เพื่อให้ภูมิภาคไร้รอยตะเข็บด้านการค้าและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักๆ ในหลายภูมิภาค เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป แต่เอเชีย-แปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยยังคงมีประเทศจีนที่เป็นทั้งตลาดหลักและแหล่งลงทุนสำคัญในระยะ 3-5 ปี และมีอินโดนีเซีย และเมียนมาร์ เป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในหลายด้านทั้งในแง่ตลาด จำนวนแรงงาน และจำนวนผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าในปี 57 เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากปี 56 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 มาขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.5 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.0

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ