รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 30, 2013 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2556

Summary:

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนประเทศไทยกับกัมพูชา

2. หอการค้าคาดส่งออกปี 56 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนปี 57 คาดโต 5.5%

3. ครัวเรือนญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่าย

Highlight:

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนประเทศไทยกับกัมพูชา
  • เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 56 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการดำเนินการขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย - กัมพูชา จากเวลา 07.00 น- 20.00 น. เป็น 06.00 น. - 22.00 น. จำนวน 5 แห่ง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้ (1) จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี (2)จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี (3)จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด (4)จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (5)จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 (ม.ค. - ส.ค. 56) มูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (รายด่าน) เท่ากับ 61,732.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย (1) มูลค่าการส่งออก ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปกัมพูชาผ่านด่านศุลกากร 5 ด่าน เท่ากับ 55,748.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยด่านศุลกากรอรัญประเทศเป็นด่านศุลกากรที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าสูงสุดเท่ากับ 33,601.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปกัมพูชา รองลงมาได้แก่ ด่านศุลกากรคลองใหญ่ และด่านศุลกากรจันทบุรีที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปกัมพูชาเท่ากับ 17,258.5 ล้านบาท และ 3,261.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอส์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ และเครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ สำหรับ (2) มูลค่าการนำเข้าสินค้า ไทยนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาเท่ากับ 5,983.3 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าสินค้าจากด่านศุลกากรอรัญประเทศมีมูลค่าการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าผ่านแดนจากกัมพูชา โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก ซึ่งประเทศไทยเกินดุลการค้ากัมพูชาประมาณ 49,765.5 ล้านบาท ทั้งนี้ การที่ ครม. เห็นชอบการขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย - กัมพูชา จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชาSET
2. หอการค้าคาดส่งออกปี 56 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนปี 57 คาดโต 5.5%
  • ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์การส่งออกปี 56 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นยังหดตัว รวมถึงตลาดจีนและอินเดียที่ยังติดลบ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ต่อปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาเซียน เป็นแรงผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เช่น เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยต่อเนื่องจากการแก้ไขปัญหาการขยายเพดานหนี้สหรัฐและการใช้มาตรการคิวอี ในวันที่ 15 ก.พ. 57 เชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงปรับตัวลดลง เช่น ข้าว และยางพารา ราคาจะลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 56 จนถึงไตรมาส 1 ปี 57 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาทิ กลุ่มยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ย. 56 การส่งออกของไทยหดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -7.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือน ก.ย. 55 ที่มูลค่าการส่งออกทองคำสูง โดยหากไม่นับรวมการส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี นอกจากนี้ ตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวชะลอลง อาทิ ตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่ายังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ต่อไตรมาส จากตลาดอาเซียนในภาพรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 การส่งออกขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.8 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
3. ครัวเรือนญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่าย
  • ญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประเทศในเดือนก.ย. 56 เพิ่มขึ้น 3.7% ในขณะที่ยอดค้าปลีกของประเทศในเดือนก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.1% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังได้แรงหนุนจากการบริโภคส่วนบุคคลที่แข็งแกร่ง สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นก็เป็นไปในแง่ดี โดยอัตราการว่างงานเดือนก.ย. 56 ลดลงเล็กน้อย ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติภาวะเงินฝืดที่ยาวนานกว่า 15 ปี โดยกระทรวงกิจการภายในรายงานว่า อัตราการว่างงานเดือนก.ย. 56 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 0.1% เป็น 4.0% ตำแหน่งงานว่างใหม่เพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนส.ค. 56 และเพิ่มขึ้น 9.2%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือนก.ย. 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน โดยเป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นสะท้อนจาก GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q_sa) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และได้ออกมาตรการทางการเงินแบบผ่อนปรนเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดการเงินและเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนเม.ย. 56 เป็นต้นมา และได้มีการวางเป้าหมายการเพิ่มเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 56 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ