รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2013 13:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.46

2. ธปท.เผยทุนสำรองประเทศ อยู่ที่ระดับ 1.733 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

3. ความมั่งคั่งของโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

Highlight:

1. อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.46
  • กระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ 105.7 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.46 สาเหตุมาจากการปรับขึ้นของราคาอาหารเป็นสำคัญ หากเทียบกับเดือน ก.ย. 56 พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 เพราะราคาสินค้าส่วนใหญ่ไม่ปรับขึ้นมาก น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลง และรัฐบาลยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำสะท้อนว่าเสถียรภาพภายในประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (ประมาณการณ์ ณ ก.ย. 56) เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่เหลือของปีน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีทิศทางทรงตัว และราคาพืชผักผลไม้ในช่วงฤดูหนาวจะมีทิศทางลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อจากต้นทุนมีไม่มากนัก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนอีกด้วย
2. ธปท.เผยทุนสำรองประเทศอยู่ที่ระดับ 1.733 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 25 ต.ค.56 อยู่ที่ระดับ 1.733 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 600 ล้านเหรียญสหรัฐจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ด้านฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) อยู่ที่ระดับ 2.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนเช่นกัน ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ซึ่งรวมทุนสำรองฯในปัจจุบันและForwardแล้วอยู่ที่ระดับ 1.952 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุที่ทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นคาดว่าเป็นผลจากการเข้าดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนตามภาวะตลาดการเงินโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ทุนสำรองประเทศยังอยู่ในระดับสูงสะท้อนว่าเสถียรภาพภายนอกประเทศของยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสามารถรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านเสถียรภาพภายในประเทศอื่นๆที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ อัตราอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 อัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม และที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 44.6 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 เป็นต้น
3. ความมั่งคั่งของโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • จากรายงาน Global Wealth Report 2013 ที่จัดทำโดยธนาคารเครดิตสวิสส์เปิดเผยว่า ระดับความมั่งคั่งโดยรวมของโลกในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 4.9 มาอยู่ที่ 240.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ค่าเฉลี่ยของความมั่งคั่งต่อหัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเช่นกันที่ระดับ 51,600 เหรียญสหรัฐ โดยค่าเฉลี่ยดังกล่าวสามารถแซงหน้าสูงกว่าระดับสูงสุดในช่วงก่อนวิกฤติปี 2550 ได้แล้ว ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตทางด้านรายได้และจำนวนประชากรในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคเดียวที่มีความมั่งคั่งลดลงจากปีที่แล้ว โดยลดลง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ -8.6 ความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ได้ตั้งอยู่บนโครงสร้างการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำสูง โดยประชากรครึ่งโลกเป็นเจ้าของความมั่งคั่งน้อยกว่าร้อยละ 1 ของความมั่งคั่งรวม ขณะที่ประชากรร้อยละ 10 ที่ร่ำรวยที่สุดได้ถือครองความมั่งคั่งถึงร้อยละ 86 ของความมั่งคั่งรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในรายงานไม่ได้มีข้อมูลในรายประเทศของไทยโดยตรง แต่ประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความมั่งคั่งต่อหัวระหว่าง 5,000-25,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือกลุ่มประเทศ CLMV นั้น (ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มีเพียงประเทศลาวที่เพิ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่ประเทศที่เหลือถูกจัดอยู่ในกลุ่มความมั่งคั่งต่อหัวที่ระดับต่ำกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐทั้งสิ้น แม้ความมั่งคั่งในกลุ่ม CLMV จะอยู่ในระดับต่ำแต่ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังมีอีกมาก ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศที่มีภูมิศาสตร์เชื่อมโยงและในฐานะคู่ค้าหลักจะได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตดังกล่าวไม่น้อย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ