เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 30, 2013 14:36 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2556 มีสัญญาณชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะด้านการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกันยายน 2556 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกันยายน 2556 หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -31.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงของปีก่อน สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -2.7 ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวร้อยละ -7.3 ต่อปี สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกันยายน 2556 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 67.9 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 หลังจากนโยบายของภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลงได้

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555                  2556
                                             Q1     Q2     Q3     ส.ค.   ก.ย.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.1    6.9    -0.1  -7.3     1.7  -19.4   -0.4
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -0.9    -3.1  -3.1     1.8   -3.5      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)     -0.4    4.4     7.8   6.2     5.4    4.2    6.1
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -4.7    -1.2  -3.1    -5.6   -0.7      -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)           86.6   97.2    -3.3 -24.8   -16.4  -30.7   10.3
    %qoq_SA / %mom_SA                  -   -3.0   -27.4  -3.5    12.3   -8.6      -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)     5.8    5.4    -6.2  -8.7    -8.9  -11.1   -3.3
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -1.1    -4.8  -3.7    -6.7   -1.3      -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  67.6   73.8    72.8  69.3    69.5   67.9   72.0

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกันยายน 2556 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกันยายน 2556 หดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2555 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 12.6 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 22.0 ต่อปี

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2555                      2556
                                                       Q1      Q2     Q3      ส.ค.    ก.ย.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     22.1      3.8    -1.5   -7.9     -7.7   -12.7    -2.0
   %qoq_SA / %mom_SA                           -    -12.3     0.5   -5.3     -3.9    -3.4       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy) 23.2     -0.7   -11.2  -10.0     -9.6   -12.6    -7.4
   %qoq_SA / %mom_SA                                 -8.4    -5.4   -0.9      3.9    -2.4       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)             76.2     19.4     3.2  -26.2    -28.0   -26.0    -2.3
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -2.8    -8.8  -16.1      1.1     1.7       -
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         21.4     35.2    11.0   22.0     25.2    12.6    21.6
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -1.4    -1.7    8.0     -1.0    -7.2       -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                   10.6     15.9    14.6    3.0      4.7     3.4    11.0
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.3     1.3   -1.8      3.1    -0.8       -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนกันยายน 2556 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 พบว่า นโยบายการคลังมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยมีการขาดดุลงบประมาณในไตรมาสที่ 3 รวม 17.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 234.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 218.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี แบ่งเป็น (1) รายจ่ายประจำ 186.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 32.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -26.2 ต่อปี สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 15.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 59.9 ต่อปี ทำให้การเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 เบิกจ่ายได้ 548.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 193.4 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เท่ากับ 537.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนกันยายน 2556 เกินดุลจำนวน 2.2 พันล้านบาท ทำให้ดุลงบประมาณในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขาดดุล 17.0 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                         FY2555                       FY2556
                                                      Q1/      Q2/      Q3/     Q4/     ก.ย.    YTD
                                                     FY56     FY56     FY56    FY56
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)    1,975.6  508.5    469.6    641.9   537.5   193.4 2,157.5
   (%y-o-y)                                    4.4   27.6     13.7      3.4    -1.2     9.8     9.2
รายจ่ายรัฐบาลรวม                             2,295.3  785.9    585.7    482.0   548.9   234.3 2,402.5
   (%y-o-y)                                    5.4   60.5    -24.9      4.8    -3.0     3.1     4.7
ดุลเงินงบประมาณ                               -314.7 -283.9   -109.1    165.1   -17.0     2.2  -244.9

4. การส่งออกในเดือนกันยายน 2556 มีสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2556 มีมูลค่า 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ที่หดตัวร้อยละ -1.9 และ -51.8 ต่อปี ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักสำคัญ เช่น ตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -30.7 -13.6 และ -20.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (q-o-q SA) พบว่ายังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ แร่และเชื้อเพลิง ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์ของตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่ตลาดการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่กลับมาขยายตัวได้ดี ได้แก่ ตลาดอาเซียน-9 และสหภาพยุโรป ที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 และ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนกันยายน 2556 เกินดุลเล็กน้อยอยู่ที่ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไตรมาสที่ 3 ขาดดุลการค้าที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

           ประเทศคู่ค้าหลัก                               2556
     (สัดส่วนการส่งออกปี 2555)        2555      Q1       Q2     Q3     ส.ค.     ก.ย.     YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                3.1     4.3     -2.2   -1.7     3.9     -7.1     0.05
%qoq_SA / %mom_SA                    -    -0.9     -3.1    1.5    -2.7     -6.3        -
1.จีน (11.7%)                       2.5     7.3    -13.4   -0.3     3.1      1.2     -2.5
2.ญี่ปุ่น (10.2%)                     -1.6     1.5     -6.2  -10.1    -6.0    -13.6     -5.1
3.สหรัฐฯ (9.9%)                     4.6     2.6     -3.5    0.7     3.6     -0.7     -0.1
4.สหภาพยุโรป (8.5%)                -9.2     8.7     -5.2    8.5    13.4     -2.7      2.1
5.ฮ่องกง (5.7%)                     9.6    11.2      7.8   -1.4     4.3     -1.3      5.2
6.มาเลเซีย (5.4%)                   0.2    -0.8      5.9   12.4     7.6     20.5      5.7
7.สิงคโปร์ (4.7%)                   -5.1    10.6    -10.6   23.0    57.6    -20.4      6.8
8. ตะวันออกกลาง (5.0%)              6.6     4.4     -5.6    3.4     6.8     21.0      0.7
9.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)             22.1    30.4     14.5    4.9     4.9    -30.7     11.0
PS.อาเซียน-9 (24.7%)                5.0     5.9      2.5   10.8    17.3      6.6      6.3

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนกันยายน 2556 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 พบว่า ภาคบริการสะท้อนจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกันยายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.06 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 27.6 ต่อปี โดยมาจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย ที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 102.8 15.3 และ 32.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 6.75 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี และเมื่อพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวในเดือนกันยายน 2556 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ทำให้ขาดแคลนกุ้งในการผลิต ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนสูง และผลิตภัณฑ์เบียร์ เนื่องจากกรมสรรพสามิตมีการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้ผู้ประกอบการมีการเร่งการผลิตไปในช่วงก่อนหน้าแล้ว และ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีการเร่งการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จากปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน ที่เพิ่มขึ้นเพื่อการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ตามการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 64.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 90.4 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 และต่ำสุดในรอบ 23 เดือน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการคมนาคมขนส่ง ในขณะที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัวประกอบกับภาวะทางการแข่งขันที่มีมากขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรในเดือนกันยายน 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับผลผลิตกุ้งที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน            2555                   2556
                                               Q1       Q2      Q3      ส.ค.     ก.ย.     YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)               2.5    2.9     -4.9    -3.6     -2.8     -2.9     -1.9
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -2.9     -5.7    -2.1      2.7     -3.3        -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)               3.9   -0.2      0.5    -3.4     -3.4     -4.3     -1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -1.5      1.1    -3.1      1.2     -2.8        -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                16.2   18.9     21.3    26.1     28.1     27.6     22.0
   %qoq_SA / %mom_SA                     -    2.1      8.3     6.6      7.2     -1.8        -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศบางชนิดลงลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.17 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 44.6 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 172.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1     Q2     Q3      ส.ค.    ก.ย.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1    2.3    1.7      1.6     1.4     2.4
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5    1.0    0.5      0.8     0.6     1.1
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.7    n.a.     0.8     n.a.    0.8
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   44.2   44.5    n.a.    44.6     n.a.   44.6
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)             -1.5    1.5   -6.7    n.a.     1.3     n.a.   -5.5
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8  170.8  172.3    168.8   172.3   172.3
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   23.7   23.7   21.2     22.7    21.2    21.2

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ