Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556
1. ธนาคารแห่งประเทศไทยเผย แบงค์เข้มงวดคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนสะท้อนคาดการณ์ เศรษฐกิจชะลอ
2. ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเทวกุลคาด GDP ปี 57 โตกว่าร้อยละ 4 รับอานิสงส์เศรษฐกิจยุโรป-สหรัฐฟื้นดีขึ้น
3. ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
Highlight:
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มความต้องการสินเชื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2556 โดยระบุว่า สถาบันการเงินคาดว่าความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่มาก ซึ่งสะท้อนมุมมองว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะทรงตัวในระดับค่อนข้างต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี 2556 นั้น สถาบันการเงินส่วนใหญ่ ประเมินว่าความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ จะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งเป็นฤดูกาลใช้จ่าย
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของสินเชื่อในเดือน ส.ค. 56 พบว่าขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี ทั้งนี้ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวเร่งขค้นร้อยละ 0.8 โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนมีทิศทางชะลอตัวเช่นกัน สะท้อนได้จากหนี้ครัวเรือนที่เติบโตมาจากสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ชะลอลง ซึ่งพิจารณาจากผู้ที่ได้รับมอบรถยนต์คันแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 56 พบว่ามีจำนวน 12,188 คัน ลดลงจากก่อนหน้า ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปี 56 ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 12.2 ต่อปี
- ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 57 ว่าจะเติบโตได้สูงกว่าร้อยละ 4 ต่อปี เนื่องจากเชื่อว่า เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยภายนอกจาก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการไทย นอกจากนี้ สถานการณ์การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ ขณะที่แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ปี 2557 อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.6 - 5.6)
- ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามความคาดหมายของตลาด ขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมากำลังส่งผลบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ประกาศมติดังกล่าวหลังการประชุมนโยบายประจำเดือนในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ทั้ง 23 รายในการสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 56 เนื่องจากเศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราว่างงานที่ค่อนข้างสูง โดยในเดือนกันยายน 56 เท่ากับร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนหน้า และเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะขยายตัวได้ดีในปี 57 ซึ่ง IMF ได้ประมาณการณ์ว่าในปี 56 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 56 เท่ากับร้อยละ 2.2 ต่อปี ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบนโยบายการเงินระยะปานกลางที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ระหว่างร้อยละ 2 - 3 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 56 (คาดการณ์ ณ เดือนกันยายน 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257