รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 - 8 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 12, 2013 10:49 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 66.6 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 67.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 55 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลในด้าน 1. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 หลังนโยบายภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม 2. ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และ 3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลง
  • การจ้างงานเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 39.00 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.57 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 มีผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.86 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.64 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค.56 คาดว่าจะหดที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.3 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดประมง โดยเฉพาะผลผลิตกุ้งที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา คาดว่าจะยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี (แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยางมากนัก) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน ตามสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิต
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 56 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณการชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากความกังวลถึงผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าจะขยายตัวดีถึงร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า ผลจากสินค้าคงคลังภาคเอกชนที่สูงขึ้นมาก ตลอดจนการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัยที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับแผนการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐตามกฎหมายควบคุมงบประมาณ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 56.4 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.2 จุด และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือน ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต ดัชนีสินค้าคงคลัง และดัชนีการจ้างงานขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังของลูกค้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ บ่งชี้ว่าดัชนีฯ น่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ผลจาก ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจและดัชนีการจ้างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เป็นสำคัญ บ่งชี้ความแข็งแกร่งของภาคการผลิตสหรัฐฯ
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (HSBC) เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 52.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า จากคำสั่งซื้อใหม่ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวร้อยละ -0.4 ในเดือนก่อนหน้า และมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 7.4 ในเดือนก่อนหน้า อนึ่ง การส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่าการนำเข้าจึงทำให้ดุลการค้าเดือน ต.ค. 56 เกินดุล 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
Eurozone: mixed signal
  • วันที่ 7 พ.ย. 56 ECB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากความสี่ยงเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ระดับ 51.9 สูงกว่าระดับสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.6 และดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 51.3 สะท้อนภาคการผลิตที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 29 เดือนที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนการบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
Hong Kong: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือย อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เสื้อผ้า และรองเท้าที่ขยายตัวชะลอลงนอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 ทรงตัวที่ระดับ 50.1 จุด จากผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงและการจ้างงานลดลง
Indonesia: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 อันเป็นผลจากการที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลง ทำให้สินค้านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานมีราคาสูงขึ้น
Singapore: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ 51.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.5 จุด ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ
Philippines: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 47.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 44.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า จากกิจกรรมการให้บริการที่หดตัวชะลอลง และการจ้างงานภาคบริการที่ขยายตัวเล็กน้อย
Taiwan: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและอาหารที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 หดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -7.0 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญที่หดตัวชะลอลง ได้แก่ การส่งออกไปจีน (คู่ค้าลำดับที่ 1) หดตัวร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -8.4 ในเดือนก่อนหน้า การส่งออกไปสหรัฐฯ (คู่ค้าลำดับที่ 3) หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -8.5 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน ค.ต. 56 หดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -0.7 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Australia: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าในครัวเรือนที่หดตัวลง สำหรับมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 15.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 12.7 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 ขาดดุล 6.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า วันที่ 5 พ.ย. 56 ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ย. 56 ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 7 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,425.23 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อเพียง 38,949 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ผลจากความกังวลในประเด็นการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4 - 7 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,186.46 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะปานกลางขึ้นไปส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น 1-8 bps จากแรงขายของนักลงทุนบางส่วนจากการปรับพอร์ตเพื่อเตรียมเข้าประมูลพันธบัตรรัฐบาลที่มีกำหนดการประมูลทุกสัปดาห์ในเดือนนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4 - 7 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,322.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 7 พ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.55 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ อาทิ ยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงเฉลี่ยในอัตราที่น้อยกว่า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.35 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 7 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,307.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,314.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ