Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556
1. ไทย-ภูฏานลงนามความตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจ
2. GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ส่งออกเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้า
Highlight:
- รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามร่วมกับ H.E. Mr. Lyonpo Norbu Wangchuk รมว. เศรษฐกิจของภูฏาน ในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูฏาน (Trade and Economic Cooperation Agreement between Thailand and Bhutan) ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีภูฏานเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย. 56 โดยสาระสำคัญของความตกลงฯ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว ก่อสร้าง สุขภาพและการรักษาพยายาล การศึกษา พลังงาน โลจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ตลอดจนมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) เพื่อเป็นเวทีสำหรับทั้งสองประเทศในการทบทวนพัฒนาการด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือถึงแนวทางขยายการค้าระหว่างกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ในปัจจุบัน ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทยและภูฏานยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยในปี 55 ไทยส่งออกไปยังภูฏานมูลค่า 15.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.007 ของมูลค่าส่งออกรวม อย่างไรก็ตาม ภูฏานนับว่าเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ ดังจะเห็นจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 การส่งออกของไทยไปยังภูฏานมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 77.8 ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 20.8 ล้านดอลลร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปยังภูฏานทั้งปี 55 โดยสินค้าส่งออกสำคัญเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผ้าพื้น สิ่งทออื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และยานยนต์และส่วนประกอบ อีกทั้งความตกลงฯ ดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงความเชื่อมโยงด้านอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ภูฏาน ในหลายมิติอีกด้วย
- GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบปีอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการใช้จ่ายภาครัฐและยอดการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องในปี 56 นี้เป็นสำคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องในปี 56 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องโดยในไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 19.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กอปรกับค่าเงินเยนที่อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านสินค้าส่งออกของญี่ปุ่น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 56 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับปัญหาเงินฝืดที่เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย บ่งชี้จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกันโดยในเดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การดำเนินการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในปี 57 และ 58 ให้อยู่ที่ร้อยละ 8.0 และ 10.0 ตามลำดับ นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอลงได้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56
- มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ เดือน ต.ค.56 (ตัวเลขปรับปรุง) กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) เกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ส่งสัญญาณฟื้นตัวในเดือน ต.ค. 56 โดยการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการส่งออกที่มีมูลค่าเกินกว่า 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ทำให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -1.5 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนกึ่งตัวนำ และชิปความจำที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งจีน สหรัฐฯ และอาเซียนขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการนำเข้าที่มีมูลค่าแตะระดับนี้เป็นครั้งแรก ทำให้มูลค่าการนำเข้ากลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -3.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยรวมจึงทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกัน 21 เดือน ทั้งนี้ ภาคการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ที่เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวนี้ อาจขยายตัวต่อเนื่องได้ในช่วงปลายปีซึ่งจะมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผนวกกับปัจจัยทางฤดูกาลของสิ้นค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ซึ่งมักมีอุปสงค์มากในช่วงสิ้นปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257