Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556
Summary:
1. บีโอไอเผยดึงเอสเอ็มอีญี่ปุ่นหาช่องลงทุน
2. ธปท.เผยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1.705 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
3. เยลเลนส่งสัญญาณต่อเวลา QE
Highlight:
1. บีโอไอเผยดึงเอสเอ็มอีญี่ปุ่นหาช่องลงทุน
- นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ จะมีคณะนักธุรกิจและนักลงทุนจากเมืองสำคัญของประเทศญี่ปุ่น อาทิ เมืองโอตะ มิเอะ ฟูกูชิมะ โทคุชิมะ และโอซากา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี รวม 50 บริษัท เดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยนั้นสามารถส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นกลางที่สำคัญก่อนจะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.8 แสนล้านบาท) ในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.2 ของ FDI รวม โดยธุรกิจที่ญี่ปุ่นนำเงินเข้ามาลงทุน ได้แก่ สาขาการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง (สัดส่วนร้อยละ 21.7) สาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัย (ร้อยละ 18.3) และสาขาการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ (ร้อยละ 12.6) นอกจากนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 BOI มีการอนุมัติการส่งเสริมโครงการลงทุนของญี่ปุ่นไปแล้ว 374 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องจำนวน 265 โครงการ มูลค่า 9.8 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่จำนวน 109 โครงการ มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท
2. ธปท.เผยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1.705 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 8 พ.ย.56 อยู่ที่ระดับ 1.705 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ทุนสำรองฯอยู่ที่ระดับ 1.715 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันซึ่งเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.60 บาท/เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุที่ทุนสำรองฯ ลดลง เนื่องจากธปท.มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป ทำให้ ธปท. ทยอยปล่อยเงินเหรียญสหรัฐออกมาในระบบมากขึ้น เพื่อดูแลเงินบาทอ่อนค่าและเพื่อทยอยลดภาระการถือครองเงินเหรียญสหรัฐในทุนสำรองฯลงด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับลดลงจากการที่ ธปท. มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวางแผนทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกประเทศของยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสามารถรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านเสถียรภาพภายในประเทศอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ อัตราอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 อัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 45.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 เป็นต้น
3. เยลเลนส่งสัญญาณต่อเวลา QE
- นางเจเน็ท เยลเลน ส่งสัญญาณในการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม เพื่อประคองให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ตลาดแรงงานยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในปัจจุบันอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ นางเยลเลนกล่าวเสริมต่อความกังวลด้านเสถียรภาพว่าการคงมาตรการ QE ไม่น่าจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพ เนื่องจากความเสี่ยงด้านฟองสบู่ในสินทรัพย์ในขณะนี้ยังมีจำกัด อีกทั้งเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่มีการ leverage ในระดับที่สูงจนกระทบเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจแต่อย่างใด
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงต้องการมาตรการ QE จากอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ต้องการที่ร้อยละ 6.5 และภัยคุกคามทางการคลังที่รออยู่ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจากการต่ออายุมาตรการดังกล่าว ภาคเศรษฐกิจจริงของไทยอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจมีความผันผวนสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ดังนั้นนโยบายด้านรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินนโยบายควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ดี พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันสามารถรองรับเงินทุนระยะสั้นไหลออกได้อย่างไม่มีปัญหา โดยอัตราส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้ระยะสั้นยังอยู่ในระดับปลอดภัยที่ 2.76 เท่า
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257