รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 - 15 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 15, 2013 12:36 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. 56 ได้จำนวน 178.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. จำนวน 11.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ 45.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 22.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 สะท้อนรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 23.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 (2) ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ 61.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.1 สะท้อนการนำเข้าสินค้าที่ชะลอลงซึ่งสอดคล้องกับการจัดเก็บอากรขาเข้าที่ลดลงร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนต.ค. 56 มีมูลค่า 58.4 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -19.4 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -31.5 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -3.8 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 9.6 จากเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการขยายการลงทุนและเปิดตัวโครงการใหม่ไปในทำเลใหม่ที่มีศักยภาพสูงเพิ่มมากขึ้น
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค.56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว สอดคล้องกับผลผลิตยางพารา ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี ผลผลิตกุ้ง ยังคงหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด EMS ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนต.ค. 56 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายร้อยละ 1.8 ตามการลดลงของราคายางพารา เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดีราคาผลผลิตในหมวดประมงยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง โดยเฉพาะผลผลิตกุ้ง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากโรดระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ต.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.07 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มภูมิภาค ประเทศหลักๆ มาจากนักท่องเที่ยว จีน รัสเซีย และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 17.9 30.8 และ 14.6 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 56 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน แล้วทั้งสิ้น 21.74 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,430.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 127.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.5 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 96.7 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณและการบริหารหนี้จำนวน 100.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 96.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.0 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 56 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.28 ล้านล้านบาท โดยทั้งเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลภาพรวมของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 55 นอกจากนี้ อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มชะลอตัวลง โดยด้านผู้ประกอบการเปิดขายโครงการใหม่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะที่อาคารชุดยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือนของจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเดือน ก.ย. ที่ 9,310 หน่วย ลดลงจาก 9,750 หน่วยในเดือนก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนต.ค. 56 มีจำนวน 158,657 คัน หรือหดตัวร้อยละ -11.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนืองจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.1 เช่นกัน โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -12.2 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.6 สอดคล้องกับยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.หดตัวร้อยละ -7.5 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.4 อย่างไรก็ดี คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ จะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 89.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 90.4 จากความกังวลเกียวกับปัญหาทางการเมือง ที่มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยและเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้ประกอบการให้ลดลงต่อเนื่องได้อีกในเดือนนี้

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่ง เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่ง (ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากการจ้างงานภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการหมวดค้าปลีก หมวดวิชาชีพและธุรกิจ และหมวดสันทนาการและการโรงแรม บ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงแข็งแกร่งแม้จะได้รับผลจากการปิดทำการของรัฐบาลกลางบ้างก็ตาม โดยการจ้างงานภาครัฐลดลง -8,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 56 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 ขาดดุล -62.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงเดือนก่อนหน้า
China: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงตัวจากเดือนก่อนหน้าบ่งชี้อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวในระดับนี้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 บ่งชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มส่งสัญญาณขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ และเป็นผลจากราคาอาหารที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือกลับมาขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากสินค้าหมวดทุน และสินค้าคงทนที่กลับมาหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ผนวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและเงินเยนที่อ่อนค่า ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องโดยในไตรมาสดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 19.3 และ 3.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น 3 ไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Indonesia: mixed signal
  • ในวันที่ 12 พ.ย. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps จากร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากในไตรมาสที่ 3 ปี 56 อินโดนีเซียยังคงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับความไม่แน่นอนของการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 4.5 (ช่วง 3.5-5.5) ภายในปี 57
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 20.2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปี 55 อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 12.8 และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน
Malaysia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.0 ผลจากการส่งออกไปสิงคโปร์หดตัวร้อยละ -6.2 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.2 ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ -13.7 ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่สูงกว่ามูลค่านำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 เกินดุล 8.7 พันล้านริงกิต สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากภาคเหมืองแร่ที่หดตัวร้อยละ -4.3
India: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวต่อเนื่องของการผลิตในหมวดพลังงานไฟฟ้า และการเริ่มฟื้นตัวของการผลิตหมวดเหมืองแร่และหมวดอุตสาหกรรม
South Korea: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -1.5 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -3.6 ในเดือนก่อนหน้าทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) เกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอัตราว่างงาน เดือน ต.ค 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของกำลังแรงงานรวม เท่ากับเดือนก่อนหน้า โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.24 แสนคน เพิ่มขึ้น 6 พันคนหรือร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในวันที่ 14 พ.ย. 56 ธนาคารกลางเกาหลีประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับดังกล่าวเป็นเดือนที่ 6 ต่อเนื่องกัน
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า และค่อนข้างทรงตัว โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 14 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,415.69 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อเพียง 30,304 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ผลจากความกังวลในประเด็นการเมืองในประเทศ ถึงแม้ว่านางเยลเลน ว่าที่ประธาน Fed คนใหม่มองว่าอัตราว่างงานสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 7.3 ยังเป็นอัตราที่สูงเกินไป บ่งชี้ว่า Fed น่าจะยังดำเนินมาตรการ QE ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11 - 14 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -11,919.29 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ 1-12 bps ในทิศทางเดียวกับ US Treasury ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11 - 14 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ -4,730.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 14 พ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.90 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงเฉลี่ยในอัตราที่น้อยกว่า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.18 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าและทรงตัวระหว่างสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 14 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,287.01 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,282.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ