การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2013 10:14 —กระทรวงการคลัง

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ว่า R&I ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) และสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ และคงสถานะแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) นอกจากนี้ ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ a-2

โดย R&I ให้เหตุผลในการยืนยันอันดับและแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยมีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประมาณ 5,400 เหรียญสหรัฐ อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งมีภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลักประกอบด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทอิเลกทรอนิกส์และผู้ผลิตยานยนต์ที่เติบโตขึ้นจากการเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างรวดเร็ว จากการบริหารการคลังอย่างรอบคอบมาโดยตลอด ทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ต่ำโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ระบบการเงินของประเทศมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ R&I ยังไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับดุลภาคต่างประเทศเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และระหว่างภูมิภาคอาจก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง R&I มีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลในวงจำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ดี R&I ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยสกุลเงินตราต่างประเทศและในประเทศ โดยมีมุมมองที่มีเสถียรภาพ

หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 ในปี 2554 ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมามีอัตราการเติบโตที่แท้จริงที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลและการเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในช่วงต้นปี 2556 ได้เปลี่ยนไป การส่งออกไปยังประเทศจีนและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลง ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2556 คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และเศรษฐกิจของประเทศจีนรวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศจุดหมายปลายทางในการส่งออกรายใหญ่ของไทยกำลังฟื้นตัว R&I จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 เป็นต้นไป และจากการคาดการณ์ของรัฐบาล เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราร้อยละ 3.7 และ 5.1 ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ

R&I ยังไม่เห็นโอกาสว่าจะเกิดความเสื่อมถอยของวินัยทางการคลัง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — กันยายน 2556) รัฐบาลสามารถบริหารจัดการให้การขาดดุลการคลังอยู่ในระดับร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4 แม้ว่าจะมีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยสาเหตุที่สำคัญคือ การเร่งตัวของการซื้อรถยนต์ก่อนจะหมดเขตตามนโยบายรถคันแรก ซึ่งทำให้รายได้จากภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2557 รัฐบาลคาดว่า การขาดดุลการคลังจะลดลงเหลือร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของยอดซื้อรถยนต์ในปีที่ผ่านมาทำให้ยอดขายรถยนต์ในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับยอดขายปีที่แล้ว และอาจทำให้รายได้เติบโตต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี การจัดการรายจ่ายอย่างระมัดระวังทำให้โอกาสที่การขาดดุลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีน้อย อีกทั้งยอดหนี้สาธารณะคงค้างยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 40 — 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จึงไม่มีความกังวลว่าอุปสงค์ของนักลงทุนในประเทศต่อพันธบัตรรัฐบาลจะไม่เพียงพอ

ดุลภาคต่างประเทศยังคงมีเสถียรภาพ ถึงแม้ว่าในปี 2555 ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับไปขาดดุลที่ร้อยละ 0.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูประเทศจากอุทกภัยที่ผ่านมาและการชะลอตัวของการส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และแม้ว่าในปี 2556 การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะอยู่ที่ร้อยละ 1 — 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงหรือคิดเป็น 2.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้ การคาดการณ์เกี่ยวกับการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีเสถียรภาพ

แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และระหว่างภูมิภาคยังคงดำรงอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน และแม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเผชิญหน้าทางการเมืองระดับประเทศจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จากการคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี วุฒิสภาได้มีมติไม่เห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน และพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอให้มีการถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดความสูญเสียถึงชีวิตจากการใช้กำลังทหารดังเช่นเมื่อเดือนเมษายน 2553 จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก R&I คาดการณ์ว่า การบริหารจัดการนโยบายทางการเงินการคลังของรัฐบาลจะไม่แตกต่างจากแผนที่วางไว้อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5518

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 118/2556 18 พฤศจิกายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ