Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556
1. สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการณ์จีดีพีปี 56 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0
2. คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
3. สถานการณ์ความกังวลของภาคการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์หลังพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดผ่าน
Highlight:
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในไตรมาส 3/56 เติบโตเพียงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าไตรมาส 4/56 จะเติบโตราวร้อยละ 1 กว่า เนื่องจากฐานที่สูงเกินปกติในไตรมาส 4/55 ดังนั้น จึงได้พิจารณาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปี 56 เหลือเพียงร้อยละ 3.0 จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.8 - 4.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3/56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/56 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคครัวเรือนลดลงร้อยละ -1.2 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 เนื่องจากการซื้อสินค้าคงทนประเภทยานยนต์หดตัวสูงภายหลังนโยบายรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนลดลงร้อยละ 6.5 ลดลงทั้งการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวสูงร้อยละ 3.8 หากพิจารณาเศรษฐกิจด้านการผลิตพบว่า ส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากการผลิตภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -0.7 และ -0.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 - 4.0 (คาดการณ์ ณ กันยายน 56)
- นางสาวณภัทร เธียรชุติมา รองผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาและการลงทุนพัฒนาโครงการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประเมินจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่าน ทั้งนี้ จะเห็นว่าในปี 55 มีการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 220 มูลค่า 3.48 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 54 มูลค่า 1.59 แสนล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 56 ยังคงมีการเติบโตได้ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/56 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน สะท้อนได้จาก 1) ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/56 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 12.2 จากไตรมาสก่อนหน้า และ 2) ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มชะลอตัวลง โดยด้านผู้ประกอบการเปิดขายโครงการใหม่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะที่อาคารชุดยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือนของจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเดือน ก.ย. ที่ 9,310 หน่วย ลดลงจาก 9,750 หน่วยในเดือนก่อน สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 57 คาดว่าแนวโน้มน่าจะสดใสกว่าปีนี้ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่มีความรุนแรงสูงระดับ 5 ได้พัดผ่านและได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึง ซึ่งในเหตุการณ์ไต้ฝุ่นที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวหลายร้อยคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากในการเดินทาง ทั้งนี้ ข่าวความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ได้ทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบินและที่พักอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดยกเลิกการจองประมาณร้อยละ 30 ถึง 40 ตั้งแต่ไต้ฝุ่นพัดผ่าน แม้ว่าไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนจะสร้างความเสียหายให้กับเกาะจำนวนเพียงหกเกาะจากทั้งหมด 7,107 เกาะของประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อฟิลิปปินส์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก่อนพายุเข้า ทางการฟิลิปปินส์เพิ่งตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนสิบล้านคนต่อปีภายในปี 2016 ซึ่งเป็นสองเท่าของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติห้าล้านคนที่คาดการณ์ไว้ในปี 2013 นี้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากที่ผ่านมาฟิลิปปินส์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 11 ต่อปีตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมซึ่งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ในปี 2012 มีจำนวน 4.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3.9 ล้านคนในปี 2011 ความเสียหายที่เกิดจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนจึงเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวสิบล้านคนต่อปีดังกล่าว โดยในหลายพื้นที่ การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น Boracay Palawan Cebu และ Bohol ซึ่งที่พักในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ต่างก็ประสบผลกระทบในแง่การยกเลิกการจองที่พักในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่ไต้ฝุ่นพัดผ่าน สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายถึงร้อยละ 95 จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอย่างมาก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เงินในการฟื้นฟูถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในขณะนี้ประชาชนหลายหมื่นครัวเรือนก็ยังไม่มีที่พักอาศัย
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257