รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 21, 2013 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เซ็นสัญญาขายข้าว-มันสำปะหลังให้จีนแล้วกว่า 1.2 ล้านตันวันนี้

2. เอกชนคาดว่า การส่งออกปี 57 จะขยายตัวช่วงร้อยละ 5-7 ต่อปี

3. การส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 18.6 ต่อปี

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์เซ็นสัญญาขายข้าว-มันสำปะหลังให้จีนแล้วกว่า 1.2 ล้านตันวันนี้
  • นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ว่า กระทรวงพาณิชย์โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัท Beijing Great Northern Wilderness Rice Industry สังกัดบริษัท เป่ยต้าฮวง กรุ๊ป ของกรมการเกษตร มณฑลเฮยหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วยการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าว เป็นข้าวขาว 5% และปลายข้าว ปริมาณรวม 1,200,000 ตัน และมันสำปะหลัง ปริมาณ 90,000 ตัน โดยราคาที่ซื้อขายอิงตามราคาในตลาดโลก พร้อมส่งมอบให้กับจีนได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยในปี 55 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจีนทั้งสิ้น 260,272 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้ออยละ 19.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม และประเทศไทยเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรกรรมจากจีนจำนวน 218,413 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30.6 ของมูลค่าเกินดุลการค้า ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 (ม.ค. - ก.ย. 56) ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจีนประมาณ 130,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศไทยส่งออกข้าวไปจีนจำนวน 166,216 เมตริกตัน เป็นเงิน 3,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนประมาณ 4.8 ล้านเมตริกตัน เป็นเงิน 40,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์สามารถลงนามในสัญญาขายข้าวและมันสำปะหลังให้จีนจำนวน 1.2 ล้านตัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าให้กับประเทศไทย และจะช่วยลดภาระของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าทางการเกษตร
2. เอกชนคาดว่า การส่งออกปี 57 จะขยายตัวช่วงร้อยละ 5-7 ต่อปี
  • ทนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยในรายการ Business Talk ว่าการส่งออกปี 57 จะขยายตัวช่วงร้อยละ 5-7 ต่อปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน กลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย โดยเฉพาะในตลาดหลัก 3 ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีกำลังซื้อลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด การส่งออกในเดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -7.1 ทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 56 หดตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ -1.7 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขยายตัวร้อยละ 0.05 ต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกในปี 57 ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อย่างเช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุน ยุโรป ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออก คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56 ว่า ในปี 57 การส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี
3. การส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 18.6 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 18.6 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 53 อันเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าก็ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.1 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าในเดือนนี้ถึง -10.9 ล้านล้านเยน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.9 ล้านล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านสินค้าส่งออกของญี่ปุ่น โดยจากต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาร้อยละ 15.3 ส่งผลทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปัญหาเงินฝืดที่เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 และในปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ