รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 22, 2013 13:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. สถานการณ์เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นไม่เป็นที่น่าเป็นกังวล

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือน พ.ย. 56 ลดลงสู่ระดับ 50.4 จุด

3. GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. สถานการณ์เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นไม่เป็นที่น่ากังวล
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในหุ้นไทยน้อยกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นๆ ว่า ไม่น่ากังวล เพราะไทยไม่ต้องการเงินประเภทเงินร้อนเข้ามาลงทุน เพราะจะมีผลกดดันทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก ทำให้การแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกยากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เงินทุนไหลเข้าออกในตลาดเกิดใหม่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งการคาดการณ์การลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรภายใต้มาตรการดังกล่าว ก่อให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา โดยเงินทุนไหลเข้าในประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็งกำไร ซึ่งยังคงไหลกลับสู่แหล่งลงทุนที่ปลอดภัย (Safe Haven) ไม่หมด ซึ่งหากในระยะต่อไปจะมีการดึงเงินกลับออกไปบ้างก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดปํญหาจนถึงขั้นจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมดูแล เนื่องจากสถานะทางการคลังของประเทศไทยยังคงมั่นคง ดังจะเห็นได้จาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับภาระหนี้ระยะสั้นถึง 2.8 เท่า และฐานะสุทธิ Forward อีก 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับแนวโน้มทิศทางการไหลเข้าออกของเงินทุนในประเทศไทยยังคงสอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือน พ.ย. 56 ลดลงสู่ระดับ 50.4 จุด
  • HSBC เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือน พ.ย. 56 ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 เดือนอยู่ระดับ 50.4 จุด จากระดับ 50.9 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่สูงเกินกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่และการสต็อกสินค้าของภาคธุรกิจที่ชะลอลงเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีนที่ยังคงสูงเกินกว่าระดับ 50 จุด เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงกิจกรรมภาคการผลิตในจีนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ เศรษฐกิจจีนใน 3 ไตรมาสแรกปี 56 ที่ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และภาคการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากมูลค่าการส่งออกจีนช่วง 10 เดือนแรกของปีซึ่งขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในหลายภาคส่วนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดย สศค.คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 นี้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ7.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
3. GDP ของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.4 หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตัวเลขเบื้องต้นของไตรมาสที่ 3 ปี 56 จากที่เดิมประกาศว่าขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งปรับปรุงตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ปี 56 จากเดิมที่ร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 4.4 ด้วย ทั้งนี้ เป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวเร่งขึ้นมากในไตรมาสที่ 3 ปี 56 เป็นผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และหดตัวร้อยละ -2.6 ตามลำดับ ประกอบกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว สะท้อนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.1 โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ไปประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสที่ 2 เช่น มูลค่าส่งออกไปจีน ขยายตัวร้อยละ 19.4 จากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าส่งออกไปฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 11.6 จากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 25.4 จากร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ภาพทางด้านอุปสงค์ยังสอดคล้องกับด้านอุปทาน ซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ว่า สศค. อาจปรับขึ้นคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 56 จากเดิมเดือน ก.ย. 56 คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.1

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ