รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 22, 2013 11:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA)

  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 56 ของปีงบประมาณ 2557 หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 56 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -78.5 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 92.8
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือน พ.ย. 56 จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 18.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators               Forecast           Previous
Oct :  MPI (%YoY)          -1.8               -2.9

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 56 ประกอบกับโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตัวขับเคลื่อนหลักของภาคอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 56 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การส่งออกสินค้าลดลง และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกให้ลดลงตามไปด้วย

Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเมื่อขจัดผลของฤดูกาลออกพบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA) ตามการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -1.2 และร้อยละ -1.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -0.4 อย่างไรก็ดี การผลิตภาคบริการยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีจากสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขนส่ง สื่อสาร และโทรคมนาคม และภาคบริการด้านการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 15.1 ร้อยละ 8.6 และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 56 ของปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 258.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี โดยในเดือนต.ค. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 244.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -16.0 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 241.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -15.8 (2) รายจ่ายลงทุน 2.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -31.9 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 64.1 พันล้านบาท รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 32.6 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 15.6 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 7.5 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 14.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -33.7
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 56 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -78.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -23.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายจ่ายที่เหลื่อมจ่ายจากปีก่อนจำนวน 25.8 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -101.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ 502.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 90.4 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในประเทศ และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน แสดงให้เห็นว่าการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ประกอบกับสถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการมองว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ
Economic Indicators: Next Week
  • ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ในหมวดหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 56 ประกอบกับโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของภาคอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 56 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การส่งออกสินค้าลดลง และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกให้ลดลงตามไปด้วย

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหากหักยอดขายรถยนต์แล้ว ยอดค้าปลีกจะขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ 4.24 แสนหลัง คิดเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงที่ร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -3.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) อย่างไรก็ตาม ราคากลางบ้านยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 199,500 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
China: mixed signal
  • ราคาบ้าน เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในอัตราสูงที่สุดในรอบ 34 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 55 โดยราคาบ้าน 69 เมือง ใน 70 เมืองปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ที่ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 20.4 20.2 17.7 และ 16.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการชะลอการเร่งตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 จัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด โดยแม้จะลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลจากคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกและการสะสมสินค้าคงคลังที่หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย สะท้อนเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
Eurozone: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่หดตัวชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่หดตัวต่อเนื่องแต่เป็นไปในทิศทางที่ชะลอลง ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกัน เกินดุลมูลค่า 13.1 พันล้านยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด จากระดับ 51.9 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ขณะที่ภาคบริการลดลงอยู่ที่ระดับ 50.9 จุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 56 ปรับลดลงสู่ระดับ -15.4 จุด โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบปีสะท้อนมุมมองของผู้บริโภคที่ยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน
Japan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 18.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนที่กลับมาขยายตัวได้ดีในระดับสูงและปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 26.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในหมวดทุนเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าว ขาดดุลมูลค่า -1.1 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 56 ธนาคารญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 ต่อปี
Singapore: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.4 หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เป็นผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 4.7 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และหดตัว -2.6 ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.1 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ส่วนยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -6.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากโยบายขึ้นอัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์เริ่มส่งผลกระทบน้อยลง มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 9.2 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวร้อยละ 25.1 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.6 ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าในหมวดพลังงานเชื้อเพลิงที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.3 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 6.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
Malaysia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.4 หรือขยายตัวร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เป็นผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 8.2 และร้อยละ 8.6 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.2 และ 6.0 ประกอบกับการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.2
Hong Kong: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 56 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ซึ่งขยายตัวชะลอลงในทุกมิติ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และการส่งออก จึงทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 56 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยราคาสินค้าในทุกหมวดย่อยขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาให้เช่าที่พักอาศัยที่ขยายตัวชะลอลงตั้งแต่ต้นปี 56 และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเงินเฟ้อผ่านการนำเข้าสินค้าที่บรรเทาลง อัตราว่างงาน เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยทรงตัวที่ระดับนี้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
Taiwan: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.17 ของกำลังแรงงานรวม โดยทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงมากจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 21 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,375.86 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อเพียง 33,814 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศและ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ ผลจากความกังวลในประเด็นการเมืองในประเทศ อีกทั้งจากการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุด FED ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการลดขนาดมาตรการ QE ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -6,660.93 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 1-16 bps ในทิศทางเดียวกับ US Treasury ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,577.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 21 พ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.73 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก ริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงเฉลี่ยในอัตราที่น้อยกว่า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.35 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับลดลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 21 พ.ย. 56 ปิดที่ 1,242.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,273.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ