รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 13, 2013 11:13 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพ.ย. 56 มีจำนวน 147,149 คัน หรือหดตัวร้อยละ -16.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนืองจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.1 โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -17.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.2 สอดคล้องกับยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.ที่หดตัวร้อยละ -15.6 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -7.5 อย่างไรก็ดี คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ จะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.30 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าสินเชื่อที่ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และภาพรวมของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรงตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 56 โดยความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ด้านผู้ประกอบการ มีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาคารชุดในทำเลตามแนวรถไฟฟ้า นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ต.ค. 56 เกินดุล 375.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -534.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยที่ 336.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของการนำเข้าที่หดตัวสูงกว่าการส่งออก ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิเกินดุลเล็กน้อยที่ 38.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ประกอบกับการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของภาคธุรกิจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 56 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -5,682.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ค่าที่พักอาศัย และค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • วันที่ 27 พ.ย. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี จากการที่ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม และมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน ภายใต้แรงกดดันด้านราคาในระดับต่ำ ขณะที่การขยายตัวสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอลงบ้างแล้ว จึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 56 มีมูลค่า 19,393.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.1 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 จากการขยายตัวดีขึ้นของสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.3 รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.5 ตามการขยายตัวเป็นบวกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.2 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -4.4 และ -1.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.7 และปริมาณการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.3
  • การนำเข้าในเดือน ต.ค. 56 มีมูลค่า 21,164.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าทีหดตัวร้อยละ -5.2 จากการหดตัวในหมวดสินค้ายานยนต์ที่ ร้อยละ -28.9 และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -9.4 รวมถึงสินค้าทุนที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -14.3 ในขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.8 นอกจากนี้สินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.9 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.9 และปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ ร้อยละ -3.9 จากการที่มูลค่าการส่งออกต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 56 ขาดดุล -1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค. 56 หดตัวลงอยู่ที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และ เครื่องรับโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ น้ำมันปิโตรเลียม และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบ (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -0.1
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 65.0 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 66.6 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลในด้าน 1.ความกังวลจากการชุมนุมทางการเมืองที่คาดว่าอาจเกิดความรุนแรง และกระทบต่อเศรษฐกิจ 2. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 หลังนโยบายภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง และ 3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลง
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 92.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 92.8 จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง ที่มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยเองยังคงมีความเปราะบางโดยอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นแรงกดันต่อระดับความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้ประกอบการให้ลดลงต่อเนื่องได้อีก

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศก่อนหน้านี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ย. 56 เพิ่มขึ้น 203,000 ตำแหน่งจากดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 56 ที่เพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ผลจากการจ้างงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในหมวดบริการ ทำให้อัตราการว่างงานปรับลดลงมากมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ของกำลังแรงงานรวม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือนที่ 57.3 จุด ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการลดลงเล็กน้อยที่ 53.9 จุด บ่งชี้สัญญาณการขยายตัวต่อเนื่องของภาคอุปทานสหรัฐฯ
China: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 13.0 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในเดือนก่อนหน้า การส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากในเดือนนี้จึงทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 56 เกินดุลถึง 3.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ มากที่สุดตั้งแต่ปี 52 ส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 6.0713 ต่อ ดอลล่าร์สหรัฐเมื่อวันที 9 ธ.ค. 56 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ย. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 51.7 โดย ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 51.6 และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 51.2 สะท้อนภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 56 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาคการบริโภคที่ยังคงซบเซา อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.1 ของกำลังแรงงานรวม โดยเฉพาะอัตราการว่างงานวัยเยาวชนที่อยู่สูงถึงร้อยละ 24.4 บ่งชี้สถานะของตลาดแรงงานที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 41.9 จุด จากระดับ 41.2 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีมุมมองบวกมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าทั่วไปที่มิใช่อาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
Indonesia: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 55 จากค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงทำให้ได้เปรียบในการส่งออก ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กกล้า โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 42.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพี่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.3 จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.9
Malaysia: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.6 จากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.8 ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.8 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องจักรที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 8.2 พันล้านริงกิต
Philippines: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.0 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่งและภาคการส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 51.6
South Korea: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียนที่หดตัวลงและมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 56 หดตัวที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 56 เกินดุล 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Australia: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับมูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันไปก่อน และมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 ขาดดุล -529 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
India: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น
Taiwan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 56 ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 56 เกินดุล 3.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 12 ธ.ค. 56 ปิดที่ 1,356.21 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 26,296 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนรายย่อย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ผลส่วนหนึ่งจากการที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงงบประมาณปี 57-58 ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED อาจลดขนาดมาตรการ QE ในการประชุม FOMC สัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -10,264.33 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 2 ปี ปรับตัวลดลง 1-6 bps จากแรงซื้อบางส่วนของนักลงทุนประเภทสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 8,009.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 12 ธ.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า หลังจากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโร วอนเกาหลี และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินสกุลอื่นๆ เช่นเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ที่อ่อนค่าส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.97 จากปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 12 ธ.ค. 56 ปิดที่ 1,223.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,240.56 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ