รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 13, 2013 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2556

Summary:

1. สถาบันอาหารเดินหน้าดันไทยเป็น "ครัวคุณภาพของโลก" รับมือ AEC

2. อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม

3. เกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

Highlight:

1. สถาบันอาหารเดินหน้าดันไทยเป็น "ครัวคุณภาพของโลก" รับมือ AEC
  • ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าสถาบันฯ ยังคงเดินหน้า 3 โครงการหลัก Thailand Food Quality to the World, Thailand Food Forward และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตอบโจทย์พัฒนาภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็น "ครัวคุณภาพของโลก" ภายใต้นโยบาย "ครัวม ไทยสู่ครัวโลก" แนะผู้ประกอบการควรมีความพร้อมเข้าสู่ AEC เพื่อรับมือตลาดในประเทศที่จะมีการขยายตัวสูงและเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ประเมินการส่งออกอาหารปี 56 คาดมีมูลค่า 9.13 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบปี 55 โดยประเทศในกลุ่มเอเชียยังเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยสูงถึงร้อยละ 60 พร้อมทั้งชี้ว่า ปี 57 ส่งออกอาหารน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.2 หรือมูลค่า 9.7 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แรงงานมีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหาร สาเหตุที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารลดลงในปีนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับผลผลิตทางการเกษตรลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาดในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี เช่น ผลผลิตข้าวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจากปัญหาภัยแล้ง และกุ้งที่ประสบปัญหาโรคระบาด อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในปี 57 มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปีหน้า สะท้อนจากคาดการณ์ของ IMF ที่คาดว่า ในปี 57 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.8 (เร่งขึ้นกว่าปี 55 และ 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 2.9 ตามลำดับ) ประกอบกับผลผลิตด้านเกษตรก็เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยล่าสุดในเดือน ต.ค. 56 ผลผลิตด้นการเกษตรได้ฟื้นตัวแล้ว เช่น ดัชนีผลผลิตข้าวกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 40.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหลังจากเดือนก่อนหดตัวร้อยละ -19.0
2. อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยอัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 56 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,400 คน ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานในเดือนดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 712,500 คน ในขณะที่จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 21,000 คน ทำให้มีจำนวนผู้มีงานทำในเดือนดังกล่าวรวม 11,659,900 คน โดยแบ่งเป็นการจ้างงานเต็มเวลา 8,107,900 คน และการจ้างงานไม่เต็มเวลา 3,552,000 คน ทำให้อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานคงตัวที่ร้อยละ 64.8 ในเดือนนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานของออสเตรเลียที่ระดับร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวมในเดือน พ.ย. 56 แม้จะไม่ได้เร่งขึ้นอย่างฉับพลันจากที่ระดับร้อยละ 5.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่ถือว่าเป็นการเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก โดยในปี 56 อัตราการว่างงาน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.6 เทียบกับร้อยละ 5.2 และร้อยละ 5.1 ในปี 55 และ 54 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยอัตราการว่างงานในระดับที่ค่อนข้างสูงนี้ ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นผลจากความซบเซาลงในธุรกิจเหมืองแร่ อันเป็นผลจากอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินแร่รายใหญ่ที่ลดลงแล้ว ยังเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตออกของนักลงทุนบางส่วน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียซึ่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิตสำหรับนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้น
3. เกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ธ.ค. 56 ไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 56 ส่งผลให้ GDP เกาหลีใต้ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างเปราะบางจากเงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลงของผู้ส่งออกเกาหลีใต้ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ 11 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับแรงกดดันด้านราคาซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56) ซึ่งจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาหลีใต้ที่ขยายตัวดีนั้น อาจส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการคาดการณ์ในครั้งต่อไปได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ