Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2556
1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดส่งออกไฟฟ้า 57 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ถึง 6.3
2. เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 6 ธ.ค.56 อยู่ที่ 1.67 แสนล้านเหรียญฯ
3. ไอร์แลนด์ออกจากโปรแกรมช่วยเหลือทางการเงิน
Highlight:
- บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยปี 57 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการนำเข้าของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม ที่มีภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับในปีหน้าจะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการโทรทัศน์และส่วนประกอบในการผลิตโทรทัศน์ เพิ่มมากขึ้น จึงคาดว่าปีหน้า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ถึง 6.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมการส่งออกเครื่องไฟฟ้าของไทยในระยะ 10 เดือน ของปี 56 ที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.72 หรือมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนำเข้า โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวลงถึงร้อยละ 11.3 อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังได้รับแรงหนุนจากตลาดอาเซียนที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.6 หรือ คิดเป็นมูลค่า 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 6 ธ.ค. 56 อยู่ที่ 1.675 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 5.413 ล้านล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) อยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐลดลง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงสะท้อนว่าเสถียรภาพภายนอกประเทศของยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสามารถรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านเสถียรภาพภายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 อัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 45.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 .0 เป็นต้น
- ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกจากโปรแกรมช่วยเหลือทางการเงินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสหภาพยุโรป (IMF-EU) เป็นจำนวนเงิน 67.5 พันล้านยูโร หลังเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเพียงพอที่จะยืนได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี นายเอนดา เคนนี ผู้นำของไอร์แลนด์กล่าวว่า ไอร์แลนด์ยังคงต้องดำเนินการปรับตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการรักษาวินัยทางการคลัง หลังประเทศได้รับความเสียหายระดับวิกฤติจากการแตกตัวของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธนาคาร โดยนายเอนดาตั้งเป้าว่า ไอร์แลนด์จะสามารถชดเชยความเสียหายด้านการจ้างงาน 2 ล้านตำแหน่งให้ได้ภายในเวลา 7 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจไอร์แลนด์สามารถออกจากโปรแกรมดังกล่าวได้นั้นได้รับผลดีมาจากการรักษาวินัยทางการคลังและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มยูโรโซน โดยไอร์แลนด์มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สะท้อนจาก GDP ใน ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ที่สามารถขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า หลัง หดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง 6 เดือนติดต่อกัน (อยู่ที่ร้อยละ 12.5 ในเดือน พย. 56) นอกจากนี้ การออกจากโปรแกรมความช่วยเหลือจะทำให้ความเชื่อมั่นและอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ของไอร์แลนด์ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืนมีแนวโน้มลดต่ำลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมมีการขยายตัว อนึ่ง ยังมีอีก 7 ประเทศที่ยังคงอยู่ในโปรแกรมความช่วยเหลือดังกล่าว ได้แก่ ไซปรัส กรีซ ฮังการี ลัตเวีย โปรตุเกส โรมาเนีย สเปน
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257