รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2013 10:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2556

Summary:

1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี

2. บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร คาดว่าตลาดวัสดุก่อสร้างปี 57 ยังโตได้ถึงร้อยละ 3 ถึง 5

3. PMI ยูโรโซนเดือน ธ.ค. 56 ขยายตัวเพิ่มขึ้น

Highlight:

1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวทีร้อยละ 4.5 ต่อปี จากปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังสงบ ประกอบกับการส่งออกในปี 56 ไม่สามารถขยายตัวได้ตามคาดการณ์ โดยประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.8-3.3 ต่อปี เนื่องจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของอุปสงค์ภาคเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 56 มีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเดือน ก.ย. 56 โดยจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ว่าขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ส่งผลให้ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.7 นอกจากนี้ ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 และ 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 4.0-5.0 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 56-57 อีกครั้งในวันที่ 26 ธ.ค. 56 รอดูปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) สถานการณ์การเมือง หากยืดเยื้อคงกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศทำให้ลดลงมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวไทย ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 7 มี 39 ประเทศ (สัดส่วนร้อยละ 73 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด) ประกาศเตือนการเดินทางเข้าไทย แต่เป็นการเตือนในระดับ 2-3 เท่านั้นซึ่งเป็นระดับไม่รุนแรง (ต่างจากการเตือนในปี 53) ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลายอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้าได้ (2) การส่งออก ซึ่งแม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ปัจจัยภายนอกยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากเศรษฐกิจ 4 ประเทศหลัก ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต่อการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ 2) เศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหา 3) เศรษฐกิจจีน ซึ่งได้เน้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนประมาณร้อยละ 7-8 มิได้ขยายตัวสูงร้อยละ 10 เหมือนหลายปีที่ผ่านมา และ (3) เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังดำเนินการฉีดเงินสู่ระบบ เป็นผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งปัจจัยเปล่านี้ อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย
2. บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร คาดว่าตลาดวัสดุก่อสร้างปี 57 ยังโตได้ถึงร้อยละ 3 ถึง 5
  • นายสาธิต สุดบรรทัด รองกรรมการผู้จัดการสายการขายและการตลาด บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร บอกว่าจากการประเมินตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2557 คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ถึง 5 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้าไปขยายการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวได้ดีในปี 56 โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.9 ต่อปี ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 ก็ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.7 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2555 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการขยายการลงทุนและเปิดตัวโครงการใหม่ไปในทำเลใหม่ที่มีศักยภาพสูงเพิ่มมากขึ้น และความต้องการที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้นทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ทำให้ภาพรวมของตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 57 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
3. PMI ยูโรโซนเดือน ธ.ค. 56 ขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลสำรวจของมาร์กิต แสดงให้เห็นว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือน ธ.ค. 56 ปรับขึ้นสู่ระดับ 52.1 จาก 51.7 ในเดือน พ.ย. 56 สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ธ.ค.56 เพิ่มขึ้นที่ 52.7 ซึ่งสูงสุดในรอบ 31 เดือน จาก 51.6 ในเดือน พ.ย.56 และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ธ.ค.56 ลดลงมาอยู่ที่ 51.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เทียบกับ 51.2 ในเดือน พ.ย.56 ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัว และข้อมูลที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนธ.ค. 56 ที่อยู่ที่ระดับ 52.1 ถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของดัชนี PMI เบื้องต้นรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือนธ.ค. 56 และเป็นการปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปี 56แสดงถึงภาคธุรกิจต่างๆ ของยูโรโซนมีการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดนับแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 54 และเป็นการขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทั้งนี้ จากข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนล่าสุด พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_sa) บ่งชี้เศรษฐกิจของ ยุโรโซนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวที่ ร้อยละ -0.5 และปี 57 จะขยายตัวที่ ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 56 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ