Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2556
Summary:
1. กนง. ระบุ ปัญหาการเมือง เป็นปัจจัยหลักทำเงินทุนไหลออก
2. การส่งออกกุ้งของไทยปีนี้ลดลงร้อยละ -38.4
3. FDI จีนในเดือน พ.ย. 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4
Highlight:
1. กนง. ระบุ ปัญหาการเมือง เป็นปัจจัยหลักทำเงินทุนไหลออก
- นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนไหลออกในขณะนี้ เป็นการไหลออกจากความวิตกกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยมากกว่าตัวแปรในเรื่องของมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) โดยเชื่อว่า เงินทุนต่างชาติจะออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยต่อไป ไม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจชะลอมาตรการคิวอีหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า หากมีการชะลอ QE หรือมีเม็ดเงินไหลออกจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการรับมือที่เพียงพอ และมีเงินทุนสำรองที่สูงกว่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถป้องกันปัญหาได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการซื้อในตลาดหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติขายสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. - 13 ธ.ค. 56 1.86 แสนล้านบาท (ช่วง 1 - 13 ธ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3.26 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากต้นปี - ปัจจุบัน ร้อยละ -5.1 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทย ได้แก่ (1) ผลกระทบจากทิศทางของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐ (2) ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง และ (3) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุน อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพภายนอกประเทศของไทยยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ย.56 อยู่ในระดับสูงที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า
2. การส่งออกกุ้งของไทยปีนี้ลดลงร้อยละ -38.4
- นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทยในปี 56 ว่า เป็นปีที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยเผชิญวิกฤติจากโรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) โดยมีปริมาณผลผลิตกุ้งอยู่ที่ 250,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ผลิตได้ 540,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ -53.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกกุ้งของไทยที่ลดลงถึงร้อยละ -38.4
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกกุ้งของไทยในปี 56 ลดลงมากจากปีก่อน หน้า โดยล่าสุด ปริมาณการส่งออกกุ้งในเดือน ม.ค. - ต.ค. 56 อยู่ที่ 175,713 ตัน ลดลงร้อยละ -38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นมูลค่า 56,274 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สถานการณ์ผลผลิตกุ้งที่ลดลงยังส่งผลให้ราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรในหมวดประมง (กุ้งขาวแวนนาไม) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 52.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสถานการณ์กุ้งไทยในขณะนี้ถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น โดยการผลิตกุ้งมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นจากการแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง การพัฒนาการเลี้ยง และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะที่ความต้องการบริโภคกุ้งก็ยังมีอย่างต่อเนื่องทั้งความต้องการบริโภคภายในประเทศและความต้องการของผู้บริโภคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดผู้นำเข้าหลักของไทยคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดกุ้งไทยในปี 57 ต่อไป ทั้งนี้ สมาคมกุ้งไทยได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตกุ้งในปี 57 อยู่ที่ 300,000-320,000 ตัน โดยจะสามารถส่งออกกุ้งได้ประมาณ 200,000 ตัน ขยายตัวร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท
3. FDI จีนในเดือน พ.ย. 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4
- กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในเดือน พ.ย. 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.35 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ระดับ 8.48 พันล้านดอลลาร์ ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 สูงถึง 105.51 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 13.0 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในเดือนก่อนหน้า การส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากในเดือนนี้จึงทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 56 เกินดุลถึง 3.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ มากที่สุดตั้งแต่ปี 52 ส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 6.0713 ต่อดอลล่าร์สหรัฐเมื่อวันที 9 ธ.ค. 56 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ย. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257