รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 20, 2013 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2556

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 56 ของไทยอยู่ที่ 90.3 ลดลงจาก 92.8 ในเดือนก่อน

2. ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขานรับ มติการปรับลดมาตรการ QE ภายหลังการประชุม FOMC

3. ต้นทุนในการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนของฟิลิปปินส์สูงถึง 8.2 พันล้านเหรีญสหรัฐ

Highlight:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 56 ของไทยอยู่ที่ 90.3 ลดลงจาก 92.8 ในเดือนก่อน
  • นายพยุงศักดิ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพ.ย. 56 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 92.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมนี เกิดจากการลดลงขององค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อโดยรวมของประเทศชะลอลง เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับปริมาณการผลิตในบางอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมียอดการผลิตในเดือน พ.ย. 56 จำนวนทั้งสิ้น 182,000 คัน ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน หลังจากที่เร่งการผลิตไปก่อนหน้านีแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้การขยายการลงทุนในกิจการต้องชะลอออกไปด้วย
2. ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขานรับมติการปรับลดมาตรการ QE ภายหลังการประชุม FOMC
  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น อาทิ Dow Jones Nikkei และ HangSeng ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในไทยวันที่ 19 ธ.ค. 56 มีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ภายหลังผลการประชุม FOMC มีมติปรับลดวงเงินมาตรการ QE ลงเหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยมีผลนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 57 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันเริ่มกลับมาขยายตัวในระดับปานกลาง โดย GDP ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าอัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงแต่ปรับลดระดับลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินช่วงปลายปี 51 เป็นต้นมา โดยอัตราการว่างงานล่าสุด เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 7.0 ของกำลังแรงงานรวม (ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 51) ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเริ่มปรับลดขนาดการดำเนินมาตรการ QE ลง โดยส่วนหนึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับเพิ่มภายหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นต่อท่าทีของ Fed ที่ชัดเจนขึ้น นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 ที่ Fed ประกาศว่าอาจพิจารณาปรับลดมาตรการ QE ทั้งนี้ การปรับลดวงเงินดังกล่าวยังไม่มีกำหนดยกเลิกโครงการ ประกอบกับการคงดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ในอัตราต่ำต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
3. ต้นทุนในการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนของฟิลิปปินส์สูงถึง 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ทางการฟิลิปปินส์รายงานว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจจากบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนคิดเป็นร้อยละ 17.4 ของจีดีพี โดยคาดการณ์ว่าความเสียหายจากไต้ฝุ่นดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ 0.3 ทั้งในปี 56 และปี 57 หน่วยงานวางแผนด้านเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ต้นทุนการก่อสร้างเพื่อบูรณะความเสียหายจากพายุดังกล่าวสูงถึง 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 361 พันล้านเปโซ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ขาดดุลงบประมาณเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าไม่ให้ขาดดุลเกินร้อยละ 2 ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม นานาชาติได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น ธนาคารโลกและทางการสหรัฐฯ ได้เสนอความช่วยเหลือทางการเงิน 1 พันล้านและ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ อนึ่ง พายุไห่เยี่ยนที่ขึ้นฝังฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 56 ได้สร้างความเสียหายอย่างมาก มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 ราย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ฟิลิปปินส์จะได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนอย่างหนัก และอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจล่าสุดช่วงก่อนประสบภัยพิบัติแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์อยู่ในขาขึ้น สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโดยรวม 3 ไตรมาสขยายตัวร้อยละ 7.4 โดยกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 3 มาจาการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ประกอบกับภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 10.2 นอกจากนี้ ตัวเลขที่สะท้อนการบริโภคล่าสุด อาทิ ยอดขายรถยนต์ เดือน พ.ย. 56 ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 8.9 ดังนั้น เมื่อการบริโภคภาคเอกชนที่คิดเป็นร้อยละ 70.5 ของเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง เงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะโอนรายได้กลับมามากในช่วงปลายปี และการลงทุนภาครัฐเพื่อซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ไม่ลดลงมากนัก

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ