Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2556
1. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกเดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ 4.08
2. ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 1 เดือน หลัง กกต.เห็นชอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณบวก ยอดขายบ้านใหม่แข็งแกร่ง
Highlight:
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย. 56 การส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 18,757 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.08% การนำเข้ามีมูลค่า 19,314.2 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.6 ส่งผลให้เดือน พ.ย.ขาดดุลการค้า 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกและนำเข้าในรอบ 11 เดือน ( ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 210,090.1 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.49 และนำเข้ามีมูลค่า 231,997.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 21,097.8 ล้านดอลลาร์
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกในเดือน พ.ย.56 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ - 4.1 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวแล้วแต่ยังส่งผลกระทบไม่ถึงไทยในขณะนี้ รวมถึงปัจจัยฐานการส่งออกที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 56 หดตัว การส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63.8 ของการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 5.2 โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ -5.3 วัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ -44.2 อัญมณีและเครื่องประดับลดลงร้อยละ -22.9 หมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 2.5 โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ลดลงร้อยละ -25.7,6.2 และ 25.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เป็นสำคัญ ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่าอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย. 56 ขาดดุลอยู่ที่ -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 57 หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบตามคำขอของรัฐบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแบ่งเบาภาระของประชาชน กกต.จึงเห็นว่า ข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นนโยบายต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ที่ต้องขออนุมัติทุก 1 เดือน และหากไม่ดำเนินการต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 บาท ประกอบกับน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยที่สำคัญของการผลิตทุกภาค
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 1 เดือน เพื่อรักษาความเสถียรภาพในประเทศ โดยอัตราส่วนของพลังงานในอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 11.4 โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ค่าที่พักอาศัย และค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และในหมวดพลังงานในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 4.95 หากมีการเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลขึ้นกว่า 10 บาท จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่ในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 464,000 ยูนิต ขยายตัวร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 474,000 ยูนิต โดยถือว่ายังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์และอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ราคากลางของบ้านใหม่ในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 270,900 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 ที่ร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายบ้านใหม่ในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 56 ของสหรัฐฯ ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 51 ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) และยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ ข้อมูลอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 7.0 ของกำลังแรงงานรวม จากผลของการจ้างงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาคการผลิตพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 56 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือนที่ 57.3 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ 53.9 จุด บ่งชี้สัญญาณการขยายตัวต่อเนื่องของภาคอุปทาน ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราการว่างงานที่ลดลงทำให้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 56 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (Quantitative Easing : QE) ลง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยมีกำหนดเริ่มต้นในเดือน ม.ค. 57 สศค. ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 56 และ ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 และ 2.4 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257