รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มกราคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2014 13:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มกราคม 2557

Summary:

1. กสิกรประเมินเงินเฟ้อปีม้าเชื่อเศรษฐกิจชาติฟื้นคืนชีพ

2. ส.อ.ท.ชี้ค่าเงินบาทอ่อน หนุนส่งออกเพิ่ม คาดส่งออกอาหารปี 57 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

3. Dr. Doom ชี้ปี 57 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความเสี่ยงจำกัด

Highlight:

1. กสิกรประเมินเงินเฟ้อปีม้าเชื่อเศรษฐกิจชาติฟื้นคืนชีพ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเงินเฟ้อในปี 57 น่าจะยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.6 หากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกทยอยขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปี 57 อยู่ที่ระดับประมาณ 105.6 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในปี 56 ที่ผ่านมาทั้งนี้ มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 57 จะมีโอกาสขยับสูงขึ้นกว่าระดับในปี 56 เล็กน้อย ซึ่งก็ทำให้ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล ในขณะนี้ หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้ทิศทางราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นซึ่งอาจมีผลกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ตามการชะลอลงของราคาน้ำมันดิบโลก และการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.9-2.9 คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 56) โดยขึ้นอยู่กับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 57 อยู่ที่ระดับ 105.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆดังนี้ 1) การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หลังจาก FED ส่งสัญญาณ QE tapering จะทำให้ราคานำเข้าน้ำมันดิบและสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าอื่นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 2) การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์จนไปสะท้อนเพดานต้นทุนราคาที่ระดับ 24.82 บาทต่อกิโลกรัมในเดือน ก.ย. 57 3) การปรับค่าไฟฟ้า FT 4) ผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. มาอยู่ที่ระดับ 2.25 และ 5) ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อถึงความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงาน (น้ำมันดีเซล) และนโยบายการบรรเทาและดูแลภาระค่าครองชีพของประชาชนได้
2. ส.อ.ท.ชี้ค่าเงินบาทอ่อน หนุนส่งออกเพิ่ม คาดส่งออกอาหารปี 57 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเปิดเผยว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาใกล้ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ ถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่จะส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้คาดว่าการส่งออกอาหารปี 57 จะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หลังจากกลุ่มที่เคยมีปัญหากลับมาส่งออกได้มากอีกครั้ง เช่น กุ้ง ที่เริ่มฟื้นตัวจากโรคระบาด ขณะที่ตลาดยังมีความต้องการสูงทั้งในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ผลผลิตไก่ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และตะวันออกกลางยังขยายตัวได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าในปี 57 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากปี 56 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะยังทรงตัวเนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับตัวต่อเสถียรภาพในระบบการเงิน นอกจากนี้คาดว่าสินค้าที่จะยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าเกษตร โดยเฉพาะไก่และกุ้ง เป็นต้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาอุปทานขาดแคลนในสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะคลี่คลายลง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและบริการในปี 57 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 - 8.0) คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 56
3. Dr. Doom ชี้ปี 57 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความเสี่ยงจำกัด
  • นายนิวเรียล รูบินี หรือ Dr. Doom นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กให้ทัศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในปี 57 ว่ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขณะที่ความเสี่ยงที่เคยคุกคามเศรษฐกิจในปี 56 กลับมีความเป็นไปได้ที่จำกัดลงอย่างมากในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงของการแตกสลายของกลุ่มยูโรโซนการหยุดการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐ (US Government Shutdown) การชะลอลงอย่างรวดเร็ว (Hard landing) ทางเศรษฐกิจของจีนหรือ ปัญหาความไม่สงบของอิหร่านและอิสราเอลกรณีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี รูบินีกล่าวว่า ยังเป็นการยากที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ในระดับศักยภาพของตนเอง จากภาระทางการคลังขนาดใหญ่และการสูญเสียระดับผลิตภาพทางปัจจัยทุนและแรงงานไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกในปี 57 นี้ ในภาพรวมจะเป็นปีของการฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตเร่งขึ้นจากปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. ยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันกับข้อคิดเห็นของนายรูบินี ได้แก่ ปัญหาหนี้สาธารณะและการจัดการในสหรัฐฯ ยุโรป ปัญหาการว่างงานที่คงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องของยุโรป นอกจากนี้ สศค. ยังติดตามใกล้ชิดถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เริ่มแสดงถึงความอ่อนไหวหลังเกิดการตีกลับของเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่งผลต่อทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดเงินแต่การส่งออกกลับไม่ได้มีการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพและภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งถือเป็นสภาวะที่มีความสำคัญต่อทิศทางในปี 57 นี้ไม่น้อย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ