เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 26, 2013 14:37 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2556 บ่งชี้สัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออก ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงสามารถขยายตัวได้ดี ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2556 ส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ที่หดตัวร้อยละ -16.6 และสอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ -0.6 สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปีสำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ -16.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -17.0 และยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.ที่หดตัวร้อยละ -15.6 เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ระดับ 65.0 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและรายได้ของผู้บริโภคในอนาคต

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555                  2556
                                             Q1     Q2     Q3     ต.ค.   พ.ย.   YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.1    6.9   -0.1   -7.3     2.6   -8.3   -1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -0.9   -3.1   -3.1    12.2   -9.5      -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)     -0.4    4.4    7.8    6.2     6.4   -4.5    5.0
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -4.7   -1.2   -3.1    10.4   -3.1      -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)     5.8    5.4   -6.2   -8.7   -11.1  -16.7   -5.1
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   -1.1   -4.8   -3.7     8.1   -4.0      -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  67.6   73.8   72.8   69.3    66.6   65.0   70.9

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีสัญญาณทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ดินที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรงตัวอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ด้านผู้ประกอบการ มีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาคารชุดในทำเลตามแนวรถไฟฟ้า นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ -18.7 ต่อปี

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2555                      2556
                                                       Q1      Q2     Q3      ต.ค.    พ.ย.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         21.4     35.2    11.0   22.0     14.9     3.5    19.0
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -1.4    -1.7    8.0      9.8     0.4       -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                   10.6     15.9    14.6    3.0     -1.1     3.6     9.2
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -0.3     1.3   -1.8      2.2    -0.4       -
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     22.1      3.8    -1.5   -7.9    -14.9   -18.7    -4.7
   %qoq_SA / %mom_SA                           -    -12.3     0.5   -5.3      6.2    -4.5       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy) 23.2     -0.7   -11.2  -10.0    -17.9   -23.2   -10.1
   %qoq_SA / %mom_SA                           -     -8.4    -5.4   -0.9      1.2    -2.8       -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2556 พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 165.3 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 255.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 232.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.1 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 227.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.9 (2) รายจ่ายลงทุน 4.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -90.0 สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2556 ขาดดุลจำนวน -105.0 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                 FY2556                    FY2556               FY2557
                                               Q1/      Q2/      Q3/     Q4/     ต.ค.    พ.ย.   YTD
                                              FY56     FY56     FY56    FY56
รายได้สุทธิของรัฐบาล                   2,157.5   508.5    469.6    641.9   537.5   178.6   165.3  343.9
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
   (%y-o-y)                            9.2    27.6     13.7      3.4    -1.2    21.5    -5.3    7.0
รายจ่ายรัฐบาลรวม                     2,402.5   785.9    585.7    482.0   548.9   258.3   255.8  514.1
   (%y-o-y)                            4.7    60.5    -24.9      4.8    -3.0   -17.3   -14.7  -16.0
ดุลเงินงบประมาณ                       -244.9  -283.9   -109.1    165.1   -17.0   -78.8  -105.0 -183.7

4. การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2556 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีมูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -4.1 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า และปัญหาผลผลิตของสินค้าเกษตร รวมถึงปัจจัยฐานการส่งออกที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวหลักๆ ในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ หมวดเกษตรกรรม ยานพาหนะและแร่และเชื้อเพลิง ที่หดตัวร้อยละ -4.3 -1.7 และ -1.8 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 1.1 และ 0.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักในเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ตลาดจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 5.9 และ 5.0 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

           ประเทศคู่ค้าหลัก                               2556
     (สัดส่วนการส่งออกปี 2555)        2555      Q1       Q2     Q3     ต.ค.     พ.ย.     YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                3.1     4.3     -2.2   -1.7    -0.7     -4.1     -0.5
%qoq_SA / %mom_SA                    -    -0.9     -3.1    1.5     6.9     -0.8        -
1.จีน (11.7%)                       2.5     7.3    -13.4   -0.3    14.5      8.5      0.0
2.ญี่ปุ่น (10.2%)                     -1.6     1.5     -6.2  -10.1   -12.1     -1.0     -5.4
3.สหรัฐฯ (9.9%)                     4.6     2.6     -3.5    0.7     6.5      5.0      0.5
4.สหภาพยุโรป (8.5%)                -9.2     8.7     -5.2    8.5     7.0      5.9      2.4
5.ฮ่องกง (5.7%)                     9.6    11.2      7.8   -1.4   -14.5    -16.1      1.2
6. ตะวันออกกลาง (5.0%)              6.6     4.4     -5.6    3.4     0.8      3.4      0.9
7.ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)             22.1    30.4     14.5    4.9    -7.9    -12.1      6.9
PS.อาเซียน-9 (24.7%)                5.0     5.9      2.5   10.8     2.5     -2.2      5.1

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนพฤศจิกายน 2556 พบว่า ภาคบริการสะท้อนจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น มีจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มภูมิภาค โดยจำนวนนักท่องเที่ยวหลักๆ มาจากนักท่องเที่ยวประเทศจีน มาเลเซีย รัสเซีย และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 20.6 10.5 12.5 และ 47.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร และไก่เนื้อ เนื่องจากมีความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี จากผลผลิตข้าวนาปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับสถาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก สอดคล้องกับผลผลิตยางพารา ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2556 (เบื้องต้น) ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) ในเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ระดับ 63.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ระดับ 90.3 และถือเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทำให้กำลังซื้อโดยรวมของประเทศอ่อนแอลง สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้การขยายการลงทุนในกิจการต้องชะลอออกไปด้วย

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน            2555                   2556
                                               Q1       Q2      Q3      ต.ค.     พ.ย.     YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)               2.2    2.9     -4.9    -3.5     -4.0    -10.6     -2.9
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -2.9     -5.4    -1.4      4.2     -0.8        -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)               3.9   -0.2      1.8    -4.1      5.9      5.3      1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                     -   -1.5      1.1    -3.1      9.3     -2.1        -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                16.2   18.9     21.3    26.1     14.7     11.9     21.2
   %qoq_SA / %mom_SA                     -    2.1      8.3     6.6     -2.0      1.6        -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ค่าที่พักอาศัย และค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.64 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 45.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                   2556
                                               Q1     Q2     Q3      ต.ค.    พ.ย.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.1    2.3    1.7      1.5     1.9     2.2
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    1.5    1.0    0.5      0.7     0.9     1.0
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.7    0.8      0.6     n.a.    0.7
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   44.2   44.5   45.5      n.a.    n.a.   45.5
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)             -1.5    1.5   -6.7   -0.9      0.4     n.a.   -5.7
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  177.8  170.8  172.3    172.1   167.5   167.5
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   23.7   23.7   21.2     21.8    23.9    23.9

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ