ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนธันวาคม 2556
และในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)
ในเดือนธันวาคม 2556 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 160,304 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 2,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 504,566 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,413 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนธันวาคม 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 160,304 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,565 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,073 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากค่าบริการและจำหน่ายกำไรที่สูงกว่าประมาณการ นอกจากนี้ หน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 6,128 หรือร้อยละ 108.3 เนื่องจากกรมศุลกากรมีการนำส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 5,929 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเดือนธันวาคม 2555 จำนวน 26,685 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.3 เนื่องจากในปีที่แล้วมีการนำส่งรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี สังกัดกระทรวงการคลัง จัดเก็บได้ 167,582 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,923 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,809 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.3 เนื่องจากมีการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 และอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,696 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.1 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
2. ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 504,566 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,413 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8) โดยกรมสรรพากร หน่วยงานอื่น และรัฐวิสาหกิจ จัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 356,532 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,021 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 3,769 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.2) สะท้อนถึงฐานเงินได้ของภาคเอกชนที่ยังเติบโตได้ดี (2) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 1,533 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 9.6) เป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 104,372 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,387 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 7,907 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.6) เนื่องจากมีการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 (2) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 7,339 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 42.5) เนื่องจากได้มีการใช้สิทธิส่วนใหญ่ในโครงการรถยนต์คันแรกในปีงบประมาณ 2556 เกือบทั้งโครงการแล้ว (3) ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 2,509 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.3) อย่างไรก็ดี ภาษีสุราและภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,259 และ 3,867 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.8 และ 20.4 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.6 และ 11.1 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสุรา เมื่อเดือนกันยายน 2556
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้จำนวน 27,195 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 6,505 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.5) โดยมีสาเหตุสำคัญจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,389 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.3 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมูลค่าการนำเข้าฯ ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2556) หดตัวร้อยละ 6.9 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และของที่ทำด้วยเหล็ก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 47,338 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,556 ล้านบาทหรือร้อยละ 19.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 123.3) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวงและบมจ.กสท. โทรคมนาคม
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 37,754 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,969 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.9 (แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.9) เนื่องจากในเดือนธันวาคม 2556 มีการนำส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 5,929 ล้านบาท สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 2,464 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 531 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 28.2)
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 60,991 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ4,999 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 54,550 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,870 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 6,441 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 871 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.6
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 4,171 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 205 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 3,463 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 555 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3569
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 4/57 13 มกราคม 2557--