Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2557
1. ม.หอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 57 เหลือเพียงร้อยละ 2.5
2. อังกฤษเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 57
3. จีนออกมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยการเร่งรัดจัดสรรงบลงทุนก่อสร้าง
Highlight:
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 นี้ โดยเหลือเพียงร้อยละ 2.5 จากเดิมซึ่งคาดไว้ร้อยละ 4.5 จากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อ รวมไปถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจล่าช้า ทั้งนี้ การส่งออกในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 จากสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม หากในปีนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -1.0 ได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 นี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ในประเทศ บ่งชี้เครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่บ่งชี้สัญญาณชะลอตัว อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 59.7 จุด อีกทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 หดตัวถึงร้อยละ -22.2 อีกทั้งรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในช่วงเดียวกันหดตัวร้อยละ -0.2 ขณะที่การส่งออกในเดือนแรกของปี 57 หดตัว อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และอัตราการว่างงานซึ่งทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ในเดือนธ.ค. 56 กอปรกับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่มั่นคง จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนก.พ. 57 อยู่ในระดับสูงที่ 168.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.8 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น)
- ทั้งนี้ สศค. คาดว่า จากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปีนี้ อาจส่งผลให้มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. 57 ได้
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรแถลงงบประมาณประจำปีต่อรัฐสภา โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปี 57 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรฟื้นตัวเร็วเกินคาด ขณะเดียวกัน คาดว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะเติบโตร้อยละ 2.3 นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในปี 56 ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ระดับร้อยละ -11.0 ของ GDP ส่วนในปี 57 คาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ -6.6 และลดลงสู่ระดับร้อยละ -5.5 ในปีหน้า และในปี 61-62 สหราชอาณาจักรจะเกินดุลงบประมาณร้อยละ 0.2 สำหรับหนี้สาธารณะในปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 74.5 ขอ GDP ก่อนเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 77.3 ในปีหน้า และเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 78.7 ในช่วงปี 58-59
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป โดย GDP สหราชอาณาจักรกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 56 ต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยการบริโภคภาคเอกชน บ่งชี้โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (คิดเป็นร้อยละ 63.9 ของ GDP ในปี 55) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 ล่าสุดในเดือน ม.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับเครื่องบ่งชี้ด้านอุปทาน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 56.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 57 ที่ระดับ 56.6 จุด อันเป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และดัชนีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 33 เดือน ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ณ เดือน ม.ค. 57คาดการณ์ว่า GDP สหราชอาณาจักรในปี 57 และ 58 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 2.2 เท่ากับการคาดการณ์เดิมของทางการ จึงควรเฝ้าติดตามว่าในเดือน เม.ย. IMFจะปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์หรือไม่ต่อไป
- คณะมนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ของจีนประกาศจะเร่งเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งมีแนวโน้มชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 57 โดยการเร่งรัดจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการลงทุนในการก่อสร้างสำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดย คณะมนตรีแห่งรัฐของทางการจีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยบรรเทาความกังวลของตลาดเกี่ยวกับการขยายตัวชะลอลงของเศรษฐกิจจีนได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญได้แสดงทิศทางแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี 57 อาทิ การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่หดตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (จัดทำโดย HSBC) ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนการชะลอลงของภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่ขยายตัวแผ่วลงเช่นเดียวกันกับการลงทุนในสินทรัพย์คงทน ประกอบกับในสัปดาห์ก่อน นายลีเคอเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ประกาศว่า เป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7.5 สำหรับปี 57 นั้น สามารถยืดหยุ่นได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสำคัญในหลายด้าน ได้แก่ การผิดนัดชำระหนี้ของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การล้มละลายของบริษัทจากการชะลอลงของเงินกู้ เสถียรภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาบ้านเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอ รวมถึงปัญหามลภาวะและการทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐ
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257