Executive Summary
- รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 57 ได้จำนวน 147.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- วันที่ 12 มี.ค. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.7
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -8.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 45.8 ของ GDP
- GDP สหภาพยุโรป ไตรมาส 4 ปี 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 57 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดขนาดมาตรการ QE ลงเดือนละ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Indicator next week
Indicators Forecast Previous Feb : MPI (% YoY) -6.0 -6.4
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาด และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งกระทบต่อเนื่องถึงกำลังซื้อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง
Economic Indicators: This Week
- รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 57 ได้จำนวน 147.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 6.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นที่เพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ชะลอลง และ (3) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -37.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งมอบรถในโครงการรถยนต์คันแรกได้เกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณ 2556 ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ(หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56-ก.พ. 57) ได้จำนวน 802.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. -4.7 พันล้านบาท หรือร้อยละ -0.6
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนก.พ. 57 มีมูลค่า 53.3 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.5 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -4.6 จากเดือนก่อนหน้า) ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานในการคำนวณสูงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากไปแล้วในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 59.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 61.4 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1. ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากจะกระทบต่อการใช้นโยบายต่างๆของรัฐบาล และ 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลง
- วันที่ 12 มี.ค. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี จากการที่ กนง. ประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังยืดเยื้อ เงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปรับขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจ และเอื้อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่ผลผลิตยางพารา ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนก.พ. 57 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเพิ่มสต็อคของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงกลางปี 56 ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตกุ้งยังขยายตัวในอัตราเร่ง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน หดตัวร้อยละ -8.15 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 27 เดือนนับจากสถานการณ์อุทกภัย เมื่อเดือน พ.ย. 54 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเขต กทม. ที่ทำให้ 50 ประเทศ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาก ได้แก่ จีน มาเลเซียและญี่ปุ่น ที่หดตัวร้อยละ -29.8 -16.6 และ -27.7 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
- ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มชะลอตัวในปี 57 นอกจากนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลงสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลง ประกอบกับภาพรวมการเปิดขายโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ม.ค. 57 ก็หดตัวที่ร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,466.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 16.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 11.3 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ จากการออกพันธบัตรเพื่อไปคืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF1 และ FIDF3) จำนวน 10.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 98.2 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาดและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งกระทบต่อเนื่องถึงกำลังซื้อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง
Global Economic Indicators: This Week
- ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าและขนส่งที่ลดลง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 57 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดขนาดมาตรการ QE ลงเดือนละ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปี 58 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี
- ราคาบ้าน เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.6 เป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยราคาบ้าน 69 เมือง ใน 70 เมืองปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และปักกิ่งเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 15.7 15.7 15.6 และ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งสัญญาณการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามนโยบายของทางการจีน
- GDP ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 56 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 โดยเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 55.5 จุด ซึ่งเกินกว่าระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 56 สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และประเทศในเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. 57 ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงและพลังงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกันขาดดุลมูลค่า 8 แสนล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- GDP ไตรมาส 4 ปี 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 56 เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เพิ่มความกังวลว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าในหมวดวัตถุดิบ และพลังงานที่ลดลง ในขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -3.2 จากการนำเข้าสินค้าในเกือมทุกหมวดสินค้าที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ม.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) เกินดุลที่ 0.9 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 13.8 พันล้านยูโร
มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ผลจากการส่งออกไปจีนและมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 และ 10.5 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.9 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 เกินดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
- GDP ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการบริดภคภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ส่งผลให้ GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 3.6 ในปี 55 จากการบริโภคภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ซบเซาลงเป็นสำคัญ
- อัตราว่างงาน เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.6 และถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัย สาธารณูปโภค และการเดินทางที่ขยายตัวชะลอลง และสินค้าหมวดอาหารที่หดตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ
- มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -17.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออกที่ลดลงทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 ขาดดุล 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางอินเดียเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อถึง 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ จากร้อยละ 7.50 เป็น 7.75 ในเดือน ต.ค. 56 และเป็น 8.00 ในเดือน ม.ค. 57
- มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวร้อยละ -5.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปจีนและฮ่องกงซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 และ 2 ที่กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้ง ถึงร้อยละ 36.0 และ 14.6 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวร้อยละ -15.2 ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าไขมันสัตว์ น้ำมันพืช อาหารและเนื้อสัตว์ที่กลับมาขยายตัวในอัตราสูงอีกครั้ง แม้การส่งออกจะเร่งขึ้นมากกว่าการนำเข้า แต่ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากการเกินดุล 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า
- ดัชนี SET ปรับตัวลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง แต่ยังคงสูงกว่า 1,300 จุด หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดขนาดมาตรการ QE ตามคาด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ปิดที่ 1,361.47 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 37,1345 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 มี.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 395.50 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับตัวลดลง 1-3 bps ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะปานกลางและยาวปรับตัวสูงขึ้น โดยนักลงทุนให้ความสนใจประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 10 ปี ที่มีการประมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระหว่างวันที่ 17 - 20 มี.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ -3,953.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.34 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และอ่อนค่าลงร้อยละ -5.42 เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยปี 56 โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.34 จากปดาห์ก่อนหน้า
- ราคาทองคำปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ปิดที่ 1,327.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,366.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th