รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2014 14:05 —กระทรวงการคลัง

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557

“เศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน

ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2557 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 3.1) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 2556 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยเฉพาะแผนการลงทุนภายใต้ พรบ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าขัดรัฐธรรมนูญ และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งศาลปกครอง และการยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และคาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2557 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 -7.0) ขณะที่การส่งออกบริการแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 – 3.0) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้น อาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในปี 2557 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 -1.7 ของ GDP)”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการปรับลด QE ที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทย แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงไปบ้างจากมาตรการลดความร้อนแรงในการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภัยธรรมชาติและโรคระบาด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรม”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 (ณ เดือนมีนาคม 2557)

                                                                 2556         2557 f

(ณ มีนาคม 2557)

                                                                               เฉลี่ย               ช่วง

สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก

1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                   3.9           3.9            3.4 - 4.4
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           105.1          105          100.0 - 110.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        -0.3            0            -0.5 ถึง 0.5
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        -2.2          -0.2           -0.7 ถึง 0.3
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                30.7          32.25          31.3 - 33.3
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       2.25          2.00           1.50 - 2.50
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      3.03          3.11           3.06 - 3.16

ผลการประมาณการ

1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                             2.9           2.6            2.1 - 3.1
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         1.0           2.2            1.7 – 2.7
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     0.2           2.3            1.8 - 2.8
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        4.9           1.9            1.4 - 2.4
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         -1.9           0.8           -1.8 ถึง 1.8
    - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     -2.8           1.9            0.9 - 2.9
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                         1.3          -3.1          -4.1 ถึง -2.1
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 4.2           4.4            3.4 - 5.4
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 2.3           3.8            2.8 - 4.8
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                      6.4           9.5           8.5 - 10.5
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           -0.2           5.0            3.0 - 7.0
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           -0.4           3.7            1.7 - 5.7
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                -2.8           4.7            3.7 - 5.7
  - ร้อยละของ GDP                                                 -0.6           1.1            0.8 - 1.4
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                      2.2           2.5            2.0 – 3.0
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                    1.0           1.5            1.0 – 2.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          0.7           0.7            0.6 - 0.8

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 3.1) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 2556 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 – 2.8) ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากจากการเร่งการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า ทำให้ฐานการคำนวณในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจ และส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรและสถานการณ์การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีคาดว่าจะยังสามารถเอื้อต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวได้ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 - 2.9) ตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ นอกจากนี้ การขาดความชัดเจนในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวลงตาม สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยคาดไว้ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 2.9) และการลงทุนภาครัฐจะหดตัวร้อยละ -3.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -4.1 ถึง -2.1) อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยเฉพาะแผนการลงทุนภายใต้ พรบ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าขัดรัฐธรรมนูญ และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งศาลปกครอง และการยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้ามาขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 5.4) ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การส่งออกบริการแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 – 4.8) สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายใประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 – 3.0) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้น อาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในปี 2557 ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 – 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 -7.0) ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 – 5.7) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 -1.7 ของ GDP)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3273

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 22/57 27 มีนาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ