รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2014 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 เมษายน 2557

Summary:

1. เวิลด์แบงก์คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 3.0

2. ยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 35 เกือบ 4 หมื่นคัน

3. ธนาคารโลกระบุว่าปีนี้เอเชียตะวันออกจะยังคงขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 7.1

Highlight:

1. เวิลด์แบงก์คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 3.0
  • ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกแถลงการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เหลือร้อยละ 3.0 จากที่เคยคาดการณ์เดิมไว้ร้อยละ 4.5 ส่วนจีดีพีปี 58 คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 4.5 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5.0 ซึ่งการปรับลดจีดีพีในครั้งนี้ เป็นผลมาจากปัญหาทางการเมือง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนได้จากสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทย 2 เดือนแรกของปี 57 หดตัวสูงถึงร้อยละ -43.2 ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศใน 2 เดือนแรกของปี 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.49 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดร้อยละ -4.1 เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การชุมนุมดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบให้อุปสงค์โดยรวมภายในประเทศลดลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 58.7 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 149 เดือน และต่อเนื่องไปยังการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวของปีก่อน (คาดการณ์ ณ มี.ค.57)
2. ยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 35 เกือบ 4 หมื่นคัน
  • นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล และรองประธานจัดงาน บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 35 เปิดเผย ยอดจองรถยนต์ในงานตลอด 12 วันของการจัดงาน ( 26 มี.ค. - 6 เม.ย.) มียอดจอง 39,415 คัน โดยค่ายโตโยต้า ยังเป็นแชมป์มียอดจองสูงสุดที่ 9,514 คัน คิดเป็นร้อยละ 24.14 รองลงมาคือ ฮอนด้า มียอดจอง 5,617 คัน คิดเป็นร้อยละ14.25 อันดับสาม อีซูซุ ยอดจอง 4,602 คัน คิดเป็นร้อยละ 11.68 ส่วนยอดผู้เข้าชมงานในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งสิ้น 1,779,904 ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจองรถยนต์ในช่วงการจัดงานมอเตอร์โชว์ใน 12 วันดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 54.99 ของยอดขายรถยนต์ทั้งเดือน ก.พ. 57 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 57 ที่ซบเซาในสองเดือนแรกที่สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ที่ได้หดตัวลงร้อยละ -45.15 โดยการจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2014 ช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ได้มากหลังจากสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่า ยอดจองรถยนต์ดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองได้เป็นอย่างดี ผ่านการบริโภคภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยสศค. คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคครัวเรือนทั้งปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) ทั้งนี้คาดว่ารายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผ่านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อครบกำหนดการส่งมอบรถยนต์ให้แก่ผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง
3. ธนาคารโลกระบุว่าปีนี้เอเชียตะวันออกจะยังคงขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 7.1
  • ธนาคารโลกระบุในรายงานฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า ปีนี้เอเชียตะวันออกจะยังคงขยายตัวไปได้ในร้อยละ 7.1 จากการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการต้านทานผลกระทบจากการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของอเมริกา โดยคาดการณ์ว่า GDP ของเอเชียตะวันออกในปีนี้และปีหน้าจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 7.1 เท่ากับปีที่ผ่านมา ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลก กระนั้น อัตราเติบโตดังกล่าวถือว่าลดลงจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ซึ่งทำได้ในช่วงระหว่างปี 2009-2013 ทั้งนี้ จีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย จะมีอัตราเติบโตขยับลงอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ในปีนี้ จากร้อยละ 7.7ในปี 2013 เนื่องจากการสานต่อมาตรการปฏิรูป สำหรับปีหน้าตัวเลขคาดการณ์ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 7.5 หากไม่นับรวมจีน ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะขยายตัวร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.2 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สำหรับไทยนั้นจะถูกวิกฤตการเมืองยืดเยื้อเป็นตัวถ่วงทั้งในด้านการเจริญเติบโตช่วงใกล้ๆ และการพัฒนาในระยะยาว โดยธนาคารโลกลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในปีนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยบวกและสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือ ญี่ปุ่น มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2557 โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีภาคการจ้างงานฟื้นตัวชัดเจน และภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่ง สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.9-2.9 ในขณะที่เศรษฐกิจจีนนั้นคาดว่าจะขยายตัวในระดับที่ทรงตัว โดย สศค. คาดว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 - 7.6 ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกันกับที่ธนาคารโลกระบุไว้ที่ร้อยละ 7.6 โดยมีปัจจัยความเสี่ยงจากมาตรการปฏิรูปที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงในระยะสั้น และปัญหาภาคการเงินและการธนาคารในส่วนของการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารเงา ในส่วนของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปนั้น สศค. คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยในช่วงร้อยละ 0.3 - 1.3 โดยมีอานิสงส์จากการฟื้นตัวในหลายภาคส่วน แม้จะมีความเสี่ยงด้านการจ้างงานและภาวะเงินฝืด สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น สศค. คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.8 -1.8 เนื่องจากผลกระทบของการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจตามการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในส่วนของเศรษฐกิจอาเซียนนั้น สศค. คาดว่า จะขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.2 ซึ่งสอดคล้องกันกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ด้านการเมืองยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวในระดับชะลอลงโดย สศค. คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 - 3.1) โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลให้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ