Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 เมษายน 2557
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเตรียมปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 57
2. กรมโรงงานอุตสาหกรรมคาดยอดขอตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นหลังการเมืองสงบ
3. BOJ มีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษต่อไป
Highlight:
- ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft รอบเดือน พ.ค. - ส.ค. ที่จะถึงนี้ว่า มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปัจจุบัน เพราะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลง 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลต่อค่า Ft ให้เพิ่มขึ้นหน่วยละ 5 - 6 สตางค์ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น และการผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะประชุมเพื่อพิจารณาค่า Ft กันภายในเดือนเมษายนนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบัน กฟผ. จัดเก็บค่า Ft หน่วยละ 59 สตางค์ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 56 หน่วยละ 5 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ดังนั้น หากในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค. 57 อีกหน่วยละ 5 สตางค์ จะทำให้ค่า Ft จะมาอยู่ที่หน่วยละ 64 สตางค์ ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 56 ประมาณ 10 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ซึ่งการปรับขึ้นค่า Ft จะส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยในเดือน มี.ค. 57 ราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 2.1 ยังคงอยู่ภายในอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 -3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะปรับสูงขึ้น จากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0)
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประเมินว่าในครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์การเมืองสงบลงคาดว่าจำนวนการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่หากการเมืองยืดเยื้อต่อไปก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชุดใหม่ได้แล้ว ทั้งนี้ สถิติการเปิดดำเนินกิจการโรงงานในรอบ 3 เดือนแรกของปี 57 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า มีโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ทั้งสิ้น 938 แห่ง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 9.02 % มีการจ้างงาน 19,847 คน ลดลง 10.26 % มูลค่าการลงทุน 47,474 ล้านบาท ลดลง 25.45 %
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาตลาดภายในประเทศที่ต้องชะลอการลงทุน เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้าออกไป เช่น เฟอร์นิเจอร์ โทรทัศน์ รถยนต์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม การบริการ และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตล่าสุดที่ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 59.2 ในขณะที่การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ -40.7 และ -43.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 - 2.9 ต่อปี) ขณะที่ GDP ในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 - 3.1) เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ แต่อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทางการเมืองมีทิศทางที่ดีขึ้นจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป เพื่อเพิ่มฐานเงินที่อัตราประมาณ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี และรับมือกับภาวะเงินฝืด และผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 57 ที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย Abenomics ซึ่งส่วนหนึ่งคือมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ: Q2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและส่งเสริมการกู้ยืมการอัดฉีดเงินมาตั้งแต่ต้นปี 56 และมีจุดมุ่งหมายให้อัตราเงินเฟ้อในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยจากนโยบายดังกล่าวทำให้ภาวะเงินฝืดที่ญี่ปุ่นเผชิญสะสมมาตั้งแต่ปี 40 เริ่มกลับสู่แดนบวกอีกในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และข้อมูลล่าสุด 2 เดือนแรกปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี สะท้อนภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ต่ำ (ช่วงร้อยละ 0.0 - 0.1 ต่อปี) เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 (ช่วงการคาดการณ์ร้อยละ 0.8 - 1.8 ต่อปี)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257