Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 เมษายน 2557
1. BOI เผยมูลค่าลงทุนรวมในไตรมาส 1 ปี 57 มีจำนวน 2.3 แสนล้านบาท คาดทั้งปี 9 แสนล้านบาท
2. ททท. หวั่น เงินฝืดฉุดยอดท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง
3. จำนวนคนว่างงานสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี
Highlight:
- คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า ในไตรมาส 1 ปี 57 มีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 291 โครงการ ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีจำนวน 564 โครงการ หรือร้อยละ -48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 234.0 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 261.6 พันล้านบาท หรือร้อยละ -10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ BOI ยังได้คาดการณ์ว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาอีกทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระดับหลายพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาท เช่น โครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้า โครงการปิโตรเคมี โครงการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น รวมทั้งจากข้อมูลที่ได้หารือกับนักลงทุน จึงทำให้มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมาย 9 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้ในปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักร โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 157.0 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 265 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 รองลงมาคือ กลุ่มบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าลงทุน 31.4 23.2 และ 11.9 พันล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าเงินลงทุนของโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในไตรมาส 1 ปี 57 อยู่ที่ 202.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 157.7 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 28 ขณะที่มีโครงการลงทุน 197 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 338 โครงการ หรือลดลงร้อยละ -41 โดยประเทศที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีทิศทางเติบโตขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในประเทศยังได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ รวมทั้งการขาดความชัดเจนในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวลงตาม ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 - 2.9 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ระบุถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในครึ่งปีหลังว่า ในเบื้องต้นได้ตั้งเป้ารายได้จากนักท่องเที่ยวไว้ที่ 700,000 ล้านบาท แต่ต้องจับตาอย่างรอบคอบ เพราะในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจประสบกับภาวะเงินฝืด ส่งผลให้คนไทยอาจชะลอการจับจ่ายเพื่อท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงช่วงปลายปีไม่มีเทศกาลท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นวันหยุดยาวมาช่วยกระตุ้น การจ่ายเงิน ดังนั้น ททท. จึงต้องเตรียมจัดแผนส่งเสริมกระตุ้นตลาดในช่วงไตรมาส 3 เป็นพิเศษกำลังขยายตัวมากขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์จากหลายสถาบันมองว่าสภาพเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 57 (ม.ค. - มี.ค. 57) พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 6.6 ล้านคน ลดลง 0.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 310,848.4 ล้านบาท ลดลง 13,027.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลงร้อยละ 12.6 และ 13.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสหรัฐฯ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ซึ่งเป้าหมายที่ ททท. ตั้งไว้ค่อนข้างท้าทาย แต่หากทำได้จะเป็นหนึ่งปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในปี 57
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 5 เม.ย. 57 ปรับตัวลง 32,000 ราย สู่ระดับ 300,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 50 หรือระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 320,000 ราย
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนผู้ว่างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง สะท้อนถึงแนวโน้มตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ผลจากการจ้างงานในภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคบริการหมวดการค้าและขนส่ง หมวดธุรกิจ หมวดการศึกษาและสาธารณสุข และหมวดสันทนาการ บ่งชี้ภาคบริการสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 57 คงอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ของกำลังแรงงานรวม จากการที่มีแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน (Participation rate) อยู่ที่ร้อยละ 63.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 63.0 บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 78.3 จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257