รายได้รัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 24, 2014 09:15 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้” โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 935,921 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 20,828 ล้านบาท เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สำหรับภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาษีน้ำมันและภาษีสรรพสามิตรถยนต์ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลงนอกจากนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายด้วย เนื่องจากผลกระทบของการปรับลดอัตราภาษีที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าเป้าหมายยังคงเป็นปัจจัยหนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง ครึ่งแรกของปี

ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ แต่อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ดังกล่าวสามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว ประกอบกับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปี”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมีนาคม 2557

และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557)

ในเดือนมีนาคม 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 129,363 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 19,838 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.3 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.8) ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 935,921 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,828 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนมีนาคม 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 129,363 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 19,838 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.3 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.8) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษี สังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 19,869 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,557 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 สาเหตุจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากมูลค่านำเข้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศยังจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย บ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัว 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,159 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.0 สาเหตุหลักมาจากการชำระภาษีรอบสิ้นปีปฏิทิน (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น 3) อากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,608 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.0 สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการใช้สิทธิส่วนใหญ่ในโครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า และ 5) ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,126 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.0 สาเหตุมาจากการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,377 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ ที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

๒. ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 935,921 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,828 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า สำหรับภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะภาษีน้ำมันและภาษีสรรพสามิตรถยนต์ พบว่าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุมาจากการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการใช้สิทธิส่วนใหญ่ในโครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า นอกจากนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีส่งผลกระทบในทางลดลงของรายได้ภาษี ในขณะที่ฐานเงินได้มิได้ขยายตัวดีตามที่คาดไว้จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบทางการเมือง ประกอบกับมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการออมและการใช้จ่ายของภาคประชาชนในระยะต่อไป ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี สังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าประมาณการ 59,672 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 17,914 และ 11,389 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.0 และ 19.7 ตามลำดับ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปี

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 705,613 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 23,451 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.4) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,049 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 18,768 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0) สาเหตุมาจากมูลค่าการนำเข้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศยังคงจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,719 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัว 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,551 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.1) เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น 3) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,932 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.0) เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,394 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.5) เป็นผลจากธุรกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการขยายตัว

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 205,097 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 15,079 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 39.6) สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและ การใช้สิทธิส่วนใหญ่ในโครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า 2) ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,113 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.5) เป็นผลจากการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และ 3) ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,626 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.6) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณบุหรี่ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 6,345 และ 4,952 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.9 และ 16.1 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.9 และ 29.3 ตามลำดับ) เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสุรา เมื่อเดือนกันยายน 2556

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 53,733 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,167 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 18.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.4) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,168 ล้านบาท ร้อยละ 18.8 เป็นผลจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมูลค่าการนำเข้า ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557) หดตัวร้อยละ 11.2 และร้อยละ 6.7 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 81,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,914 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 28.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 61.4) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผล สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค บมจ.ท่าอากาศยานไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.กสท โทรคมนาคม และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 69,300 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,389 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 28.0) สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 5,929 ล้านบาท และการนำส่งรายได้จากค่าต่ออายุสัมปทานการผลิตปิโตรเลียมจำนวน 2,368 ล้านบาท สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,775 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 504 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.0) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุที่สูงกว่าเป้าหมาย 2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 140,627 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,353 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 111,374 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,626 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 29,253 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,273 ล้านบาทหรือร้อยละ 17.1

2.7 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 6,845 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,096 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 7,855 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 888 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2
  • การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 3 งวด เป็นเงิน 24,426 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 796 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่สูงกว่าประมาณการ (ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้หักด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3569

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 29/57 23 เมษายน 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ