Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 เมษายน 2557
1. ดัชนีราคาสินค้าเกษตรของไทยเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
2. BOJ มั่นใจเศรษฐกิจญี่ปุ่นแข็งแกร่งพอที่จะรับมีอภายหลังการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานดัชนีราคาสินค้าเกษตรของไทย เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาลดลงเป็นกลุ่มสินค้าธัญพืชและพืชอาหาร (ลดลงร้อยละ -13.3)โดยเฉพาะข้าว และกลุ่มไม้ยืนต้น (ลดลงร้อยละ -13.3) โดยเฉพาะยางพารา ขณะที่สินค้าในกลุ่มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น คือ กลุ่มไม้ผล เช่น สัปปะรดโรงงาน กลุ่มพืชผัก กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มประมง ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทยราคาลดลงจากปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก เช่น กรณีข้าวเปลือกที่ผลผลิตข้าวจากเวียดนามและอินเดียมีปริมาณมาก โดยล่าสุดราคาข้าวเปลือกเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -16.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -17.0 ส่วนยางพารา นอกจากผลผลิตของไทยจะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราตามโครงการกล้ายาง 90 ล้านต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และเวียดนามที่นักลงทุนจีนมาลงทุนปลูกไว้นั้นเริ่มเก็บผลผลิตได้เช่นกัน ประกอบกับตลาดรายใหญ่อาทิจีนและญี่ปุ่น ยังคงมีปริมาณยางพาราในสต็อคอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายางพารา เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -18.0 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ -27.6 ซึ่งยังหดตัวในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงก็ตาม ขณะที่สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ หรือในกลุ่มประมงที่ปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งยังคงไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งมาตั้งแต่ต้นปี 57 ได้หันมาปลูกชนิดอื่นทดแทน เช่น ปลูกข้าวโพดแทนข้าว ซึ่งใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าข้าวในการเพาะปลูก และอุปสงค์จากจีนค่อนข้างดี ประกอบกับกุ้งที่ประสบปัญหาโรคตายด่วน
- นายฮิโรชิ นากาโสะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวแสดงความมั่นใจว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือต่อแรงกดดันต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศภายหลังจากการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57ที่ผ่านมา โดยเหตุผลสนับสนุนสำคัญที่สะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็คือ ภาคการจ้างงานและระดับรายได้ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดที่คลี่คลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษ (Q2) อย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 นี้ จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ ได้แก่ (1) ด้านการค้าระหว่างประเทศ จากการขยายตัวของการส่งออกในปี 56 ซึ่งอยู่ในระดับสูงจากอานิสงส์ด้านปัจจัยฐาน ซึ่งจะหมดลงในปีนี้ (2) ด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในระดับสูงในปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปัจจัยฐานสูงในปี 57 หากในปีดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีมาตรการใหม่เพิ่มเติม และ (3) การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานญี่ปุ่นในเดือนก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปีที่ผ่านมา กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง โดยในเดือนก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ หากรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการเพื่อสร้างส่งเสริมด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ต่อเนื่อง อาจส่งผลดีต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่าในปี 57 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
- สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น เห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.7 และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส ซึ่งการขยายตัวเร่งขึ้นนี้เป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออก โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยูโรโซน ที่กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 57 ทั้งปีจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257