รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 28, 2014 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 เมษายน 2557

Summary:

1. ธปท.มั่นใจว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะยังอยูในกรอบที่ร้อยละ 2.5

2. พาณิชย์ยอมรับส่งออกไม่ถึงเป้า 5% รุกหนักเจาะตลาดอินโดฯ

3. วิกฤติยูเครนยังคุกรุ่น ส่งผลราคาน้ำมันผันผวน

1. ธปท.มั่นใจว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะยังอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 2.5
  • โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มที่ส่งผลให้ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ส่งผ่านไปยังกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราวและเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ทั้งนี้มั่นใจว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะยังอยูในกรอบที่ร้อยละ 2.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0) คาดการณ์ ณ มี.ค. 57 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 อันเป็นผลจากการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ และแรงกดดันด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัว สอดคล้องกับอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมผลของนโยบายการเพิ่มราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน (เพิ่มจากราคา 20.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 25.30 บาทต่อกิโลกรัม) มาตรการพยุงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มาตรการขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเหลือ 0.0005 บาทต่อลิตร ผลกระทบของวิกฤตภัยแล้งภายในประเทศ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า FT) และการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ตั้งแต่เดือน ก.ค. 57 ไว้ด้วยแล้ว
2. พาณิชย์ยอมรับส่งออกไม่ถึงเป้า 5% รุกหนักเจาะตลาดอินโดฯ
  • กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าเป้าตัวเลขการเติบโตของการส่งออกมีแนวโน้มจะปรับลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 3.0 จากเดิมที่ตั้งไว้ร้อยละ 5.0 เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งปัจจัยจากเศรษฐกิจโลก แต่ต้องรอลุ้นหลังการประชุมทูตพาณิชย์ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.0-80.0 หากไม่เป็นตามเป้าจะกระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ด้วย โดยในเดือน พ.ค. นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อทบทวนเป้าหมายการส่งออกเป็นรายตลาด และภาพรวมการส่งออกทั้งปี เพื่อให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 5.0 ในส่วนการดันเป้าส่งออกตลาดอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยในปี 57 นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศวางเป้าหมายที่จะส่งออกสินค้าไปยังตลาดอินโดนีเซียให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 7.0) คาดการณ์ ณ มี.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากปี 56 เนื่องจากคาดว่าการส่งออกสินค้าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 การส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 36.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 8.0 และ 7.5 ตามลำดับ สำหรับตลาดอินโดนีเซียนั้น ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทย โดยมีสัดส่วนในปี 57 ที่ร้อยละ 4.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 การส่งออกของไทยไปยังอินโดนีเซียหดตัวร้อยละ -19.0 สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำตาลทราย ที่หดตัวร้อยละ -25.3 -26.0 และ -25.4 ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อให้ถึงเป้าการเติบโตที่ร้อยละ 4.0 การส่งออกไทยไปยังอินโดนีเซียจะต้องมีมูลค่าอย่างน้อย 974.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน สำหรับในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 57
3. วิกฤติยูเครนยังคุกรุ่น ส่งผลราคาน้ำมันผันผวน
  • วิกฤติทางการเมืองในยูเครนกรณีการแบ่งแยกดินแดนแคว้นไครเมียที่ได้ขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัสเซีย กับฝ่ายยูเครน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ สถานการณ์ล่าสุดยังคงมีการปะทะกันด้วยกำลังทหารในเมือง Slovyansk ของยูเครนและการแทรกแซงอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ โดยเหตุการณ์ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงในเร็ววันแต่อย่างใด ด้านราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของวิกฤติดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยราคาน้ำมันในวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 เม.ย. 57) อยู่ที่ระดับ 105.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นเดือน เม.ย. ทำให้ราคาเฉลี่ย เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีผลิตพลังงานจำนวนมากเป็นอันดับที่สามของโลกและเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศในสหภาพยุโรป ความขัดแย้งกรณีดังกล่าวทำให้ความมั่นคงทางพลังงานของยุโรปสั่นคลอน หนทางที่อาจบรรเทาความกดดันได้ในขณะนี้ คือ การพึ่งพาพลังงานจากแหล่งอื่น คือ แหล่งพลังงานทางแอฟริกาเหนือ การใช้พลังงานทางเลือก รวมไปถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดการพึ่งพาพลังงาน นอกจากนี้ ยังได้เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำพลังงาน Shale ใต้พื้นดินมาใช้ ซึ่งยุโรปมีทรัพยากรประเภทดังกล่าวอยู่ไม่น้อย (ประมาณการอยู่ที่ 470 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นปริมาณการบริโภคที่ราว 26 ปีของทั้งทวีปยุโรป) อย่างไรก็ดี การนำ Shale มาใช้ถือว่ายังเป็นไปได้ยากในทางปฎิบัติ จากข้อจำกัดด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและต้นทุนที่สูงในการลงทุนระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในระยะสั้นวิกฤติยูเครนจะยังคงส่งแรงกดดันต่อราคาพลังงานต่อไป ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งไทยใช้บริโภคด้วยเช่นกัน โดย สศค. คาดว่าราคาน้ำมันในปี 57 จะทรงตัวจากปีที่แล้วที่ระดับประมาณ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานที่ยังมีสูง แต่ได้จับตาดูสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิดและอาจมีการปรับประมาณการหากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ