Moody’s Investor Service (Moody’s) รายงานว่า อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ Baa1 โดยมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ ยังคงเป็นผลมาจากสถานะทางการเงินของรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำและโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวย รวมทั้งความผันผวนจากปัจจัยภายนอกมีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2557 หรือหากความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบเชิงลบไปยังภาคการท่องเที่ยวหรือภาคการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หากต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือสถานะดุลการชำระเงินอ่อนแอลงโดยฉับพลัน รวมทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นผลลบต่อความน่าเชื่อถือเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด Moody’s เห็นว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดที่จะส่งผลให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยบทสรุปของ Moody’s ได้ปรากฏอยู่ในบทวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยที่เพิ่งได้มีการเผยแพร่เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันแก่นักลงทุนและมิได้ส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ โดย Moody's ได้พิจารณาและประเมินปัจจัย 4 ด้านของประเทศไทย ประกอบด้วยด้านความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจว่าอยู่ในระดับปานกลาง (+) ความแข็งแกร่งด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (+) ความแข็งแกร่งทางการเงินภาครัฐอยู่ในระดับ สูงมาก และความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง (+)
ในรายงานระบุว่า สถานการณ์การแบ่งขั้วทางการเมืองภายในประเทศอย่างชัดเจนของไทยนับเป็นความท้าทายหลักของความน่าเชื่อถือ และความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นนับเป็นข้อจำกัดหลักสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในขณะนี้และในอนาคต
จากรายงานดังกล่าว การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 กำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2557 และ 2558 ซึ่งหากยังคงดำเนินต่อไป อาจบั่นทอนจุดแข็งหลักของความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญเติบโตในปี 2557 – 2558 จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ล่าช้าออกไปและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ในรายงานของ Moody’s กล่าวว่า อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทั้ง 2 ปี น่าจะชะลอตัวลงต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8
นอกจากนี้ Moody’s คาดว่าจะมีแรงกดดันตามวัฏจักรต่อภาคการธนาคารของไทยซึ่งได้รับแรงผลักดันมาจากสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของเศรษฐกิจมหภาคและวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดย Moody's เห็นว่า การเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์เสื่อมลงบ้าง
อย่างไรก็ดี ในรายงานยังได้ชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทย คือ ขีดความสามารถในการรองรับหนี้ของรัฐบาลอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุกและการดำเนินนโยบายการเงินที่น่าเชื่อถือ รวมถึงความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่ถูกจำกัดโดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
รายงานของ Moody's เพิ่มเติมว่า ในขณะที่ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในช่วง 12 – 18 เดือนข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย พัฒนาการใดๆ ที่สนับสนุนความแข็งแกร่งในภาคการคลัง ซึ่งรวมถึงการลดลงของการขาดดุลงบประมาณและการใช้จ่ายนอกงบประมาณ รวมทั้งการจำกัดภาระผูกพันทางการคลังที่เกี่ยวข้องกับมาตรการประชานิยมจะเป็นปัจจัยบวกต่อความน่าเชื่อถือ อีกทั้งการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของบรรยากาศทางการเมืองและธรรมาภิบาลของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนเสถียรภาพในระยะยาวและประสิทธิภาพของรัฐบาลเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนต่อความน่าเชื่อถือเช่นกัน
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5518
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 30/57 28 เมษายน 2557--