รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 11:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 เมษายน 2557

Summary:

1. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -7.0

2. ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์ มี.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 อยู่ที่ 113,313 คัน

3. EU ชี้ หนี้กรีซมีแววลดลงในปีหน้า

1. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -7.0
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -7.0 สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -10.4 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตรวมลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น โดยระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตของเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 64.33
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวค่อนข้างสูงถึงร้อยละ -7.0 ในขณะที่ไตรมาสแรกของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 2.9 สศค. มองว่าเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงในช่วงต้นปี จากการปรับฐานการผลิตรถยนต์เนื่องจากการหมดลงของนโยบายรถคันแรก กอปรกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ และไร้ข้อสรุป นอกเหนือจากนี้ ผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายในสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่า FT อย่างไรก็ตาม สศค. คาดการณ์ว่าทั้งปี 57 การบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) อีกทั้งปริมาณส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อมารองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้น
2. ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์ มี.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 อยู่ที่ 113,313 คัน
  • นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดส่งออกรถยนต์ในเดือน มี.ค. 57 ส่งออกได้ 113,313 คัน สูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,843.89 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้แล้ว 291,509 คัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 56 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 1.25 และคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 136,336.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.-มี.ค. 56 ร้อยละ 7.43
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรกของปี 57 ในประเทศจะหดตัวร้อยละ -45.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยอดส่งออกรถยนต์เดือน มี.ค. 57 กลับเพิ่มสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.61 จากเดือนก่อน และในช่วงไตรมาสแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 8.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 56 สะท้อนให้เห็นการหันไปผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกมากขึ้นในช่วงที่การบริโภคภายในประเทศ ส่งสัญญาณหดตัวทั้งจากสถานการณ์ทางการเมืองและการหมดลงของนโยบายรถคันแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงยอดการผลิตรถยนต์รวมทั้งเพื่อการส่งออกและเพื่อการบริโภคในประเทศในไตรมาสแรกมีจำนวนทั้งหมด 517,492 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -28.28
3. EU ชี้ หนี้กรีซมีแววลดลงในปีหน้า
  • สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกรีซมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างเห็น ได้ชัดตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากกรีซเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยอดเกินดุลการคลังก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยรายงานการทบทวนครั้งที่ 4 สำหรับโครงการปรับปรุงเศรษฐกิจของกรีซที่ระบุว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะค่อยๆลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 125 ต่อจีดีพีในปี 63 และอยู่ที่ประมาณร้อยละ 112 ในปี 65 ทั้งนี้ หลังจากที่กรีซเผชิญกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีอยู่ในระดับต่ำมากระหว่างปี 53-56 กรีซก็ต้องเผชิญกับสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่พุ่งสูงสุดไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 177 ในปี 56-57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดเกินดุลการคลังของกรีซนอกจากจะส่งสัญญาณที่ดีในแง่จิตวิทยาแล้ว ยังสามารถมองได้ว่าสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซอยู่ในเกณฑ์ที่ฟื้นตัวดีขึ้นระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังคงต้องระมัดระวังอยู่มาก แม้กรีซจะยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องขอกู้เงินเป็นครั้งที่สาม ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรปพยากรณ์ไว้จะอยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่าจะมีการกู้เงินเพิ่มเติม โดย สศค. คาดว่า GDP ปี 57ของสหภาพยุโรปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) ฟื้นตัวขึ้นจากปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -0.4 เนื่องจากภาคการผลิตที่ขยายตัวสะท้อนจากยอดการส่งออกที่มีการขยายตัวทีละน้อย (ร้อยละ 1 ณ ม.ค. 57) และปัญหาด้านหนี้ที่ลดลงโดยภาพรวม แม้ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางจากตัวเลขการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 12 ณ ม.ค. 57) ซึ่งการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในลำดับต่อไปด้วยเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ