เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 15:22 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หดตัว ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2557 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี อย่างไรก็ดี การหดตัวของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เกิดจากการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -10.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.9 ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวร้อยละ -18.1 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -20.2 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -24.1 สอดคล้องกับยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม.หดตัวร้อยละ -11.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 25.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมีนาคม 2557 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -3.9 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 58.7 และถือเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากจะกระทบต่อการใช้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลง เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 59.9

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2556                  2556                       2557
                                             Q1     Q2     Q3     Q4     Q1     ม.ค.   ก.พ.   มี.ค.
   ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)      -0.7    6.8   -0.3   -7.3   -1.0   -0.2     2.7   -2.4   -1.2
   %qoq_SA / %mom_SA                       -2.0   -3.2   -0.9    5.5   -1.1     3.5   -5.2   -2.5
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)     4.4     4.6    7.7    6.2   -0.2   -3.9    -5.3   -9.8    3.3
   %qoq_SA / %mom_SA                       -2.7   -1.3   -0.5    4.2   -6.3     3.7  -10.4    5.0
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)   -6.0     5.4   -6.2   -8.7  -14.9  -20.8   -30.3  -14.0  -18.1
   %qoq_SA / %mom_SA                       -2.0   -4.9   -3.7   -4.9   -8.2   -14.4   15.1   -6.2
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                 70.2    73.8   72.8   69.3   64.9   59.9    61.4   59.7   58.7

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีสัญญาณหดตัว โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคม 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -15.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างในเดือนมีนาคมมีสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.0 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                   2556                      2556             2557
                                                     Q1     Q2    Q3    Q4    Q1    ม.ค.   ก.พ.  มี.ค.
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)         17.9   35.2   11.0  22.0   9.1  -6.6   -5.5   -3.8  -9.4
   %qoq_SA / %mom_SA                               -1.5   -1.4   8.2   4.0 -14.2   -4.3   -4.5  -4.9
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                    8.3   15.9   14.6   3.0   0.3  -2.4   -1.4   -2.1  -3.5
   %qoq_SA / %mom_SA                               -0.6    1.3  -1.3   1.0  -2.4    8.1   -1.6   0.0
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                     -5.9    3.7   -1.5  -7.9 -16.6 -14.1  -19.3   -6.6 -15.2
   %qoq_SA / %mom_SA                              -10.5   -0.4  -4.7  -1.9  -7.7   -2.7   -2.7  -3.6
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือและรถไฟ (%yoy)-10.2   -0.7  -11.2 -10.0 -18.0 -11.4  -12.3  -15.0  -6.9
   %qoq_SA / %mom_SA                               -8.8   -5.0  -1.0  -4.3  -1.6    5.3   -6.5  -2.6

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมีนาคม 2557 ได้จำนวน 165.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -26.6 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 142.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -29.4 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 128.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 13.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -82.3 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 (ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557) สามารถเบิกจ่ายรวมได้ทั้งสิ้น 553.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมีนาคม 2557 ได้จำนวน 129.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -13.8 ต่อปี โดยภาษีที่จัดเก็บได้ลดลงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีรถยนต์ ที่หดตัวร้อยละ -15.9 และ -36.6 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 432.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนมีนาคม 2557 ขาดดุล -31.4 พันล้านบาท และทำให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 (ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557) ขาดดุล -125.6 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง            FY2556                    FY2556                          FY2557
       (พันล้านบาท)                         Q1/      Q2/      Q3/     Q4/     Q1/    Q2/   ก.พ.   มี.ค.  YTD
                                         FY56     FY56     FY56    FY56    FY57   FY57
รายได้สุทธิของรัฐบาล              2,161.3   508.5    469.6    641.9   537.5   503.4  432.5 147.0  129.4 935.9
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
   (%y-o-y)                       9.4    27.6     13.7      3.4    -1.2    -1.0   -7.9  -5.8  -13.8  -4.3
รายจ่ายรัฐบาลรวม                2,402.5   785.9    585.7    482.0   548.9   831.1  553.0 174.4  165.5 1,384.1
   (%y-o-y)                       4.7    60.5    -24.9      4.8    -3.0     5.7   -5.6  14.7  -26.6   0.9
ดุลเงินงบประมาณ                  -239.0  -283.6   -109.1    165.1   -11.4  -334.7 -125.6 -48.4  -31.4 -460.3

4. การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2557 มีมูลค่า 19.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร เกษตรกรรม และแร่และเชื้อเพลิง ที่หดตัวร้อยละ -7.7 -6.0 และ -20.8 ต่อปี ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักสำคัญ เช่น ตลาดออสเตรเลีย สิงคโปร์ และกลุ่มอาเซียน-5 หดตัวที่ร้อยละ -23.3 -36.0 และ -16.3 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 56.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี โดยสินค้าที่หดตัวลดลง ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าเกษตรกรรม เป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ ยังคงขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่ม CLMV สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -14.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 55.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ทั้งนี้ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนมีนาคม 2557 เกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 เกินดุลอยู่ที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

     ประเทศคู่ค้าหลัก 16 ประเทศ                          2556                      2557
 (สัดส่วนการส่งออกปี55 >ปี 56 )       2556      Q1     Q2    Q3    Q4    Q1     ม.ค.   ก.พ.   มี.ค.
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)               -0.3     3.9   -2.2  -1.7  -1.0  -1.0    -2.0    2.4   -3.1
%qoq_SA / %mom_SA                    -    -1.3   -2.8   1.7   1.7  -0.7    -1.0   -1.3   -4.1
1.จีน (11.7%>>>11.9%)               1.4     7.3  -13.4  -0.3  12.9  -4.4    -0.8   -0.8  -11.2
2.สหรัฐฯ (9.9%>>>10%)               0.8     0.8   -3.5   0.7   5.2   0.6     0.4   -2.3    3.6
3.ญี่ปุ่น (10.2%>>>9.7%)              -5.2     1.5   -6.3 -10.1  -5.5   2.0     1.8    2.7    1.6
4.สหภาพยุโรป (8.5%>>>8.8%)          2.7     7.0   -5.3   3.3   6.3   4.8     4.6    7.0    2.9
5.ฮ่องกง (5.7%>>>5.8%)              0.7    11.2    7.7  -1.4 -12.0  -1.8   -14.0    8.7    0.1
PS.อาเซียน-5 (17.2%>>>17.6%)        2.0     5.4   -0.7  11.2  -7.1 -11.0   -10.8   -4.9  -16.3
PS.อินโดจีน-4 (7.4%>>>8.3%)         11.8     7.0    9.9  10.0  20.3   7.1     7.9   14.1    0.7

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 6.6 ล้านคน หดตัวร้อยละ -5.85 ต่อปี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาจาก จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง หดตัวร้อยละ -17.8 -15.8 -22.6 และ -56.4 ต่อปี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 64.3 และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 61.8 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 84.7 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราที่ยังคงขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวโพดขยายตัวได้ในอัตราเร่ง ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 แล้วหันมาปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวนาปรัง ส่วนในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน           2556                   2556                    2557
                                              Q1     Q2     Q3    Q4    Q1    ม.ค.    ก.พ.    มี.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)             -3.2    2.9   -4.9   -3.5  -7.1  -7.0   -5.6    -4.7   -10.4
   %qoq_SA / %mom_SA                        -2.9   -5.4   -1.4   3.4  -7.1   -2.6     0.1    -6.6
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)               18.8   22.1   24.3   21.4   9.3 -5.85    0.1    -8.1    -9.4
   %qoq_SA / %mom_SA                    -    4.4    6.4    1.0  -2.2 -10.2   -4.8    -5.0    -1.1
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)             -1.0    2.1   -5.0   -4.3   1.5   2.9    3.9     3.9     1.6
   %qoq_SA / %mom_SA                        -0.4   -3.2   -0.2   5.4   0.8   -0.4    -1.9    -2.5

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในเดือนมีนาคม 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดผักสดและปศุสัตว์ เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้อุปทานลดลง ประกอบกับอาหารสำเร็จรูปมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 และ 1.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.41 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 46.1 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 นอกจากนี้ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 อยู่ในระดับสูงที่ 167.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2556                   2556                  2557
                                               Q1     Q2     Q3     Q4    Q1    ม.ค.   ก.พ.   มี.ค.
ภายในประเทศ
เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                      2.2    3.1    2.3    1.7    1.7   2.0    1.9    2.0    2.1
เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                     1.0    1.5    1.0    0.5    0.8   1.2    1.0    1.2    1.3
อัตราการว่างงาน (yoy%)                   0.7    0.7    0.7    0.8    0.6   0.9    0.9    0.9    0.9
หนี้สาธารณะ/GDP                         45.7   44.2   44.5   45.5   45.7  46.1*  45.8   46.1    n.a.
ภายนอกประเทศ
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)                -2.8    0.5   -6.7    0.4    3.0   5.4*   0.3    5.1    n.a.
ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)              167.2  177.8  170.8  172.3  167.2 167.4  166.7  168.1  167.4
ฐานะสุทธิ Forward (พันล้าน $)             23.0   23.7   23.7   21.2   23.0  23.6   22.2   23.2   23.6

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ