รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 7, 2014 14:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ชี้เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย เหตุการณ์เมืองกระทบ'แรงกว่าทุกครั้ง'

2. ธปท. คาด ดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 57 มีโอกาสเกินดุลมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.5 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

1. อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ชี้เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย เหตุการณ์เมืองกระทบ'แรงกว่าทุกครั้ง'
  • นายบัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1) กระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2) ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวนโยบาย ตลอดจนความต่อเนื่องของตัวนโยบายที่ไม่ชัดเจน ซึ่งกระทบต่อการลงทุนที่ชะลอลงตามไปด้วย และ 3) การที่มีเพียงแค่รัฐบาลรักษาการ ทำให้ความสามารถของรัฐบาลในการใช้เครื่องมือเพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่นั้น ขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ปัญหาการเมืองในประเทศว่าจากนี้ไปเป็นอย่างไร คลี่คลายลงได้หรือไม่ และ 2) สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 57 ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 56 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.6 ต่อปี โดยเป็นการชะลอตัวลง ทั้งภาคการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ภาคการลงทุน ภาคการผลิต ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เองก็ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง ทั้งนี้ หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงได้ภายในไตรมาสที่ 2 อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวกลับมาได้ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 57 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี
2. ธปท. คาด ดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 57 มีโอกาสเกินดุลมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) กล่าวว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 57 มียอดการเกินดุลประมาณ 8.2 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุล และดุลบริการที่กลับมาเกินดุลหลังจากที่ขาดดุลมาตลอดในช่วง 3 ไตรมาสก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดใน ปี 57 จะมีโอกาสกลับมาเกินดุลมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้า โดยเฉพาะในด้านการลงทุน แต่หากการลงทุนเริ่มกลับมาก็คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะทยอยลดขนาดการเกินดุลลงตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 57 ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งภาคการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและ สินค้าทุนลงตามไปด้วย โดยข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 57 การนำเข้าหดตัวสูงถึงร้อยละ -15.4 ในขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.7 ถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 0.8 ถึง 1.4 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ขาดดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการนำเข้า ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
3. ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.5 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน
  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.5 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ในขณะที่มีสัญญาณบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินได้มีการปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ติดต่อกัน 9 เดือน ซึ่งในการประชุมประจำเดือนของธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อกระตุ้นการผลิตและการส่งออกของประเทศให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากออสเตรเลียได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกจากออสเตรเลียไปจีนคิดเป็นร้อยละ 34.8 ประกอบกับอัตรา การว่างงานของออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานของออสเตรเลียในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงงาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงงาน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลียจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ