รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 6, 2014 14:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. เงินเฟ้อพุ่ง! พณ.ขอความร่วมมือสินค้าอุปโภค-บริโภคตรึงราคา 6 เดือน

2. ยอดจัดตั้งโรงงาน 4 เดือนแรกลดลงร้อยละ 9.8

3. GDP อินโดนีเซียไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.2

1. เงินเฟ้อพุ่ง! พณ.ขอความร่วมมือสินค้าอุปโภค-บริโภคตรึงราคา 6 เดือน
  • เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 57 นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้าต่อไปอีก 6 เดือน หรือเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ต.ค. เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระด้านค่าครองชีพของผู้บริโภคหลังอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่หากผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อน เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า จะให้ปรับขึ้นได้หรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 56 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอย่างชัดเจน สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ปรับขึ้นราคาค่า FT ไฟฟ้าจาก 54 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงปลายปี 56 เป็น 60.99 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.94 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน เม.ย. 57 เท่ากับ 107.47 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 57 สูงขึ้นร้อยละ 0.50 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 2.45 ดังนั้น สศค. วิเคราะห์ว่าการที่กระทรวงพาณิชย์จะตรึงราคาสินค้าต่ออีก 6 เดือนนั้น จะช่วยให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นไม่มากจนกระทบค่าครองชีพของผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม สศค. ได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
2. ยอดจัดตั้งโรงงาน 4 เดือนแรกลดลงร้อยละ 9.8
  • อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 มีโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ทั้งสิ้น 1,260 แห่ง ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการลงทุน 12,406 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุปกรณ์มียอดจัดตั้งโรงงานสูงสุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจัดตั้งโรงงานที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งตลาดภายในประเทศอาจชะลอการลงทุนออกไป ตามการชะลอตัวของการบริโภคของโดยรวมของประเทศ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 57 เดือน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 57 ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 10.4 ส่งผลให้ ไตรมาสแรกของปี 57 ผลผลิตภาคอุสาหกรรมหดตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. GDP อินโดนีเซียไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.2
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียในไตรมาสแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจาก ไตรมาสที่ 4 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.6 นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้บั่นทอนการลงทุนและการบริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 57 ส่งสัญญาณชะลอตัวกว่าในปี 56 ที่ขยายตัวร้อยะ 5.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้การบริโภคและการลงทุนไม่ขยายตัวมากนัก ขณะที่ด้านการค้าระหว่างประเทศก็พบว่าการส่งออกของประเทศอินโดนีเซียมีการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากมีมาตรการห้ามส่งออกทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้แปรรูปบางชนิด โดยในไตรมาสแรกปี 57 การส่งออกของประเทศอินโดนีเซียหดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.3 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ