รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 2, 2014 14:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด

3. มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้เดือน เม.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 9.0

1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.1 และนับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.3 ผลจากราคาสินค้าในทุกหมวดที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 - 2.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ซึ่งล่าสุดในเดือน เม.ย. 57 ราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะผลผลิตสัปปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ โดยสับปะรดโรงงานราคาสูงขึ้นเนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ปาล์มน้ำมันราคาสูงขึ้นเนื่องจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมากมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 57 โดยราคาล่าสุด ณ วันที่ 1 พ.ค. 57 อยู่ที่ 105.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาห์เรล หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับราคา ณ ต้นปี 57 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน เม.ย. 57 ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 0.5-3.0
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน เม.ย. 57 ที่ระดับ 50.4 จุด ถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 50.3 จุด ในเดือน มี.ค. 57 และระดับ 50.2 จุด ในเดือน ก.พ. 57 สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีทิศทางขยายตัวได้ แม้ในอัตราที่ไม่สูงนัก สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 56 โดยจากที่ในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ร้อยละ 10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ได้ชะลอลงต่อเนื่องและในเดือน ธ.ค. 56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 9.7 และล่าสุด ในเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.8
  • ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือน เม.ย. 57 นี้ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดย HSBC ซึ่งแสดงทิศทางของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มสดใสขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน โดยดัชนีฯ ของ HSBC อยู่ที่ระดับ 48.3 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.0 จุดในเดือนก่อนหน้า
3. มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้เดือน เม.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 9.0
  • มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้เดือน เม.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าตลาดคาดการณ์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าใน เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 4.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนอุปสงค์ภายนอกประเทศที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 11.1 และร้อยละ 8.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมเกาหลีใต้ในปี 56 ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของคู่ค้าทั้ง 2 ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกเกาหลีใต้ยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน (คู่ค้าสำคัญอันดับ 1 และมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 26.1) ซึ่งจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 57 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 56 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.7 - 3.7 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ