รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 2, 2014 13:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณเดือนมี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -26.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 57 เกินดุล 2,898.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่เงินฝากสถาบันการขยายตัวที่ร้อยละ 8.5

  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -55.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -37.5

  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ -8.6

Indicator next week

Indicators                          Forecast           Previous
Apr :  Motorcycle sale (%yoy)        -16.0              -18.1

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อภาคชนบทที่ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรกรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

Economic Indicators: This Week

  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มี.ค. 57 ปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 165.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -26.6 ต่อปีโดยในเดือนมี.ค. 57 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 142.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -29.4 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 128.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 (2) รายจ่ายลงทุน 13.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -82.3 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 12.4 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนกระทรวงศึกษาธิการ 7.7 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 23.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 57 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงปม. เบิกจ่ายได้ 1,243.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 49.2 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -31.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -1.3 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -32.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 งบประมาณขาดดุลจำนวน -460.3 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -60.1 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -520.4 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ 213.7 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน มี.ค. 57 มีมูลค่า 19,940.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนถือเป็นการกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวเป็นบวกในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.4 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -4.1 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ -2.2 ประกอบกับสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัว ร้อยละ -6.0 รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ ร้อยละ -7.1 ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.4 และปริมาณการส่งออกหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -1.7 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกใน ไตรมาสที่ 1 ปี 57 หดตัวที่ ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน มี.ค. 57 มีมูลค่า 18,480.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.6 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -14.8 และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -19.3 รวมถึงสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -9.7 ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.7 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ -1.2 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ ร้อยละ -13.1 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -15.4 จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 57 เกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มี.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องประดับ อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย วิทยุโทรทัศน์ กระดาษ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบ (%mom_sa) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -6.6
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดผักสดและปศุสัตว์ เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้อุปทานลดลง ประกอบกับอาหารสำเร็จรูป มีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 57 เกินดุล 2,898.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 5,065.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 3,480.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของการนำเข้าในระดับสูง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อย ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล 581.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,226.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงอุปสงค์ภายในที่เริ่มมีทิศทางชะลอลง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการชะลอลงของเงินฝากภาคครัวเรือนที่ธนาคารพาณิชย์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ซึ่งลดแรงจูงใจในการฝากเงิน กอปรกับกับการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ได้ลดความร้อนแรงลงสอดคล้องกับแผนการปล่อยสินเชื่อที่ปรับลดลง แต่ยังมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาฐานลูกค้าของธนาคาร
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมี.ค. 57 อยู่ที่ 34,813 คัน หรือหดตัวร้อยละ -55.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -54.2 ส่วนหนึ่งจากฐานการคำนวณในครึ่งปีแรกของปี 2556 ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ จากการผลิตเพื่อส่งมอบตามนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ 3 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -55.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ 49,170 หรือหดตัวร้อยละ -37.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.9 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -38.5 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.6 ตามการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศเนื่องจากมีการเร่งการลงทุนไปแล้วในปีก่อน ประกอบกับปัญหาความไม่สงบทางการการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -36.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.7 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน เป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

Economic Indicators: Next Week

  • ปริมาณการจำหน่ายจักรยานยนต์ เดือนเม.ย.57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อย-18.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อภาคชนบทที่ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรกรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.03 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 ส่วนหนึ่งจากสภาวะอากาศหนาวเย็นผิดปกติ ทำให้การลงทุนโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างชะลอตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 82.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.9 จุด ผลจากดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด จากดัชนีการจ้างงาน การส่งวัตถุดิบ และสินค้าคงคลังที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. 57 FOMC มีมติปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดย Fed จะเข้าซื้อตราสารหนี้ MBS และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เดือนละ 20 และ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ผลจากภาคการจ้างงานที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.3 จุดในเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ แม้ในระดับต่ำ
Japan: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนับเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี จากการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเม.ย. 57 เป็นสำคัญ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์การสื่อสารที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ปรับระดับการผลิตเพื่อรับมือกับความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงภายหลังการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม
Eurozone: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 57 ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 50 มาอยู่ที่ระดับ -8.6 สะท้อนภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Singapore: mixed signal
  • อัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นราว 24,900 ตำแหน่ง ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 40,600 ตำแหน่ง
Vietnam: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 21.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากการส่งออกสิ่งทอที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 ส่วนมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.8 จากการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนอะไหล่ที่ขยายตัวร้อยละ 18.2 ดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 ขาดดุล 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
South Korea: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวได้ดีที่สุดในรอบ 15 เดือน ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 เกินดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากราคาสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการผลิตสินค้าประเภททุนที่หดตัวลง แม้การผลิตสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
Hong Kong: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 เดือน หลังจากหดตัวร้อยละ -0.4 และร้อยละ -1.3 ใน เดือน ม.ค. และเดือน ก.พ. 57 ตามลำดับ จากการส่งออกไปคู่ค้าสำคัญที่กลับมาขยายตัว เช่น การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 4.4 สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.1 และอินเดียขยายตัวร้อยละ 15.6 แม้การส่งออกไปจีนหดตัวร้อยละ -2.3 ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 ขาดดุล -50.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
Taiwan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.95 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ ประกอบกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี แม้การส่งออกไปยังจีนจะมีสัญญาณแผ่วลงบ้าง

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากช่วงต้นสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 30 เม.ย. 57 ปิดที่ 1,414.94 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 31,498 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ โดยนักลงทุนเริ่มคลายกังวลต่อการปรับลดขนาดมาตรการทางการเงินสหรัฐฯ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 30 เม.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,611.7 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 5 ปีปรับลดลง ผลจากภาวะ risk appetite ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะสั้นในภูมิภาคอีกครั้ง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 30 เม.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ -4,573.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาททรงตัว โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยอ่อนอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ -0.03 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เงินเยน ยู โร และเงินหยวน ในขณะที่สกุลเงินภูมิภาคอาทิริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.19 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 1 พ.ค. 57 ปิดที่ 1,283.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,300.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ