รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 19, 2014 11:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาอาหารห้างอีก 6 แห่ง

2. ธปท.คาดสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปี 57 โตประมาณร้อยละ 6-8

3. ธนาคารกลางยุโรปเตรียมออกมาตรการกระตุ้นหลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

1. กระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาอาหารห้างอีก 6 แห่ง
  • รองอธิบดีกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีก 6 แห่ง ประกอบด้วย ห้างเทสโก้โลตัส, เดอะมอลล์, บิ๊กซี, เซ็นทรัล, ตั้งฮั่วเส็ง และท็อปซุปเปอร์มาเก็ต ว่ากรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้ตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จออกไปอีก 6 เดือน โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 26 พ.ค. นี้ ซึ่งราคาจำหน่ายเริ่มตั้งแต่ 30-70 บาทต่อจาน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ เนื้อหมู ไข่ไก่ ผักสด และก๊าซหุงต้ม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 57 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามนโยบายปรับราคาก๊าซหุงต้มที่เริ่มตั้งแต่ปี 56 ประกอบกับราคาอาหารสด (เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และผักผลไม้) ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 1.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ นโยบายตรึงราคาอาหารสำเร็จรูปนอกบ้านจะช่วยลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อได้ในช่วงที่เหลือของปี 57 เนื่องจากดัชนีราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปมีสัดส่วนน้ำหนักปีฐานถึงร้อยละ 14.4 ของตะกร้าเงินเฟ้อนอกจากนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 1.5 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
2. ธปท.คาดสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปี 57 โตประมาณร้อยละ 6-8
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 57 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามภาวะดอกเบี้ยขาลงและสินเชื่อที่ชะลอตัว โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเหลือร้อยละ 2.52 อย่างไรก็ดี การกันสำรองที่ลดลงหลังจากที่กันไว้มากแล้วในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 50.5 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.26 ทั้งนี้ จากการที่ทางธนาคารพาณิชย์ปรับลดเป้าสินเชื่อมาหลายครั้งตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับลดลงมาเหลือโตร้อยละ 8-10 และในช่วงที่ผ่านมาหลังจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อจึงเริ่มปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 6-8 หรือในบางธนาคารพาณิชย์ปรับให้ต่ำกว่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.6 เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนให้ชะลอการบริโภคและลงทุน ประกอบกับการขาดความชัดเจนในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวลงตามไปด้วย และเป็นเหตุให้สินเชื่อปรับตัวลดลงได้ โดยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในช่วง 3 เดือนแรกปี 57 สินเชื่อขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค
3. ธนาคารกลางยุโรปเตรียมออกมาตรการกระตุ้นหลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด
  • เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 57 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ร้อยละ 0.4 แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งอย่างเยอรมนีจะเติบโตดีที่ร้อยละ 0.8 ก็ตาม นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงได้แสดงท่าทีเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการเงินระลอกใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 57 ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเติบโตเพียงร้อยละ 0.2 แสดงถึงการฟื้นตัวที่ยังคงเปราะบาง และเพิ่มความกังวลที่เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อาจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำยาวนานแบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในทศวรรษ ที่ผ่านมา ทำให้ในการประชุมECB ในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้เราอาจได้เห็นมาตรการทางการเงินชุดใหม่ที่ ECB อาจนำออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะประกอบไปด้วยมาตรการอย่างการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักทุกประเภทลง และการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างสินเชื่อจากธนาคาร ทำให้ต้องจับตาดูท่าทีของ ECB และการประชุมของ ECB ในเดือนหน้าอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความเป็นไปได้การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ซึ่งตลาดคาดหวังไว้สูง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ