รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 20, 2014 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 57 ติดลบร้อยละ 0.6

2. ทอท.โอดการเมืองฉุดยอดผู้โดยสารร่วงร้อยละ 10

3. ธุรกิจญี่ปุ่นเชื่อมั่นลดหลังขึ้นภาษี

1. สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 57 ติดลบร้อยละ 0.6
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ของไตรมาส 1 ปี 57 พบว่าหดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ปี 56 ร้อยละ 2.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ 0.6 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ตามการหดตัวของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ การบริโภคสินค้าคงประเภทยานพาหนะที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 39.8 เนื่องจากรายได้ของประชาชนที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากรายได้เกษตรกรที่ลดลงตามราคาพืชผลสำคัญ ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชน ประกอบกับความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศส่งสัญญาณหดตัวทั้งการส่งออกและการนำเข้าสินค้าที่ร้อยละ 0.4 และ 8.5 ตามลำดับ หากพิจารณาเศรษฐกิจด้านการผลิต พบว่าหดตัวเกือบทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -2.7 และสาขาการก่อสร้างที่หดตัวในระดับสูงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -12.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
2. ทอท.โอดการเมืองฉุดยอดผู้โดยสารร่วงร้อยละ 10
  • นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปรับตัวลดลงประมาณ ร้อยละ 8 โดยล่าสุดระหว่างวันที่ 1-15 พ.ค. 57 ปริมาณผู้โดยสารลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลในเดือน เม.ย. 57 พบว่าปริมาณนักท่องเที่ยวหดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค. 57 ที่ได้หดตัวลงนั้น คาดว่ามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความวุ่นวายของปัญหาการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นช่วงย่างเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าทั้งปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.8 ล้านคน
3. ธุรกิจญี่ปุ่นเชื่อมั่นลดหลังขึ้นภาษี
  • ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจญี่ปุ่นลดลงในเดือน พ.ค. จากสัญญาณที่ว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน เม.ย .เป็นตัวชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนต่อ ๆ ไป ขณะที่ผู้บริหารบางคนกังวลมากขึ้นเรื่องการส่งออกไม่ขยับอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประจำเดือน พ.ค. ของรอยเตอร์ ซึ่งใกล้เคียงกับการสำรวจรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น พบว่าความเชื่อมั่นลดลงเหลือระดับ 19 จากระดับ 25 ในดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบเจ็ดปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการอยู่ที่ระดับ 21 ลดลงจากที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือน เม.ย. ถึง 14 จุด ผู้บริหารบริษัทหลายแห่งกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ที่กำลังซบเซาฉุดรั้งการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีดีพีญี่ปุ่นโตร้อยละ 5.9 ในไตรมาส 1 ปี 57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดนับจากปี 54 เนื่องจากภาคธุรกิจขยายการลงทุนในจังหวะเดียวกับที่ภาคครัวเรือนแห่กักตุนสินค้าก่อนญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรก ในรอบ 17 ปี เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสูงร้อยละ 8.5 เทียบกับปีก่อนหน้า กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องซื้อสินค้าทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการเร่งผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการ และยังมีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงานขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายที่ขยายตัวอย่างมากในไตรมาสแรกดังกล่าวอาจหมายถึงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงในไตรมาสที่สองของปีหลังการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ยอดขายปลีกในเดือน เม.ย. จนถึงกลางเดือน พ.ค. เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ดังที่สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคบริการที่ลดลงในเดือน พ.ค. ตามการสำรวจของรอยเตอร์ ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น สศค. คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.8 -1.8 เนื่องจากผลกระทบของการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจตามการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงหลังขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำมาพิจารณาว่าควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกรอบจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือนต.ค. ปีหน้าตามแผนเดิมหรือไม่ โดย สศค. มีข้อสังเกตว่า การพิจารณาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 70 ของ จีดีพีญี่ปุ่น และแผนบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นจากการเตรียมใช้จ่ายงบลงทุนร้อยละ 40ของปีงบประมาณปัจจุบันในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ