ก็จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองจะส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และคาดว่าตลอดทั้งปีงบประมาณ อาจจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้กำชับให้หน่วยงานจัดเก็บรายได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนเมษายน 2557
และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – เมษายน 2557)
ในเดือนเมษายน 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 134,682 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,264 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,075,378 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,316 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.9) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนเมษายน 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 134,682 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,264 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษี สังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 22,030 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.6 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,679 และ 2,302 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.6 และ 21.9 ตามลำดับ เป็นผลจากมูลค่านำเข้าที่หดตัว นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีน้ำมันยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,475 3,339 และ 3,232 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 28.4 และ 38.7 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5,682 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.7 สาเหตุสำคัญมาจาก บมจ. ปตท. นำส่งเงินปันผลจากกำไรสุทธิประจำปี 2556 เร็วกว่าที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,364 ล้านบาท หรือร้อยละ 57.5 เนื่องจากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 1,539 ล้านบาท
2. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – เมษายน 2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,075,378 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,316 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.9) ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าประมาณการ 81,446 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 23,597 และ 13,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 และ 22.1 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 816,979 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 36,006 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.5) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 22,744 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 25,785 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.5) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศยังคงจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,041 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.9) สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัว แต่เริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลง
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,715 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.3) สาเหตุหลักมาจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และภาษียื่นสิ้นปีปฏิทินจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,336 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.2) เนื่องจากภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
- อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,586 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4) เป็นผลจากธุรกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการขยายตัว
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 238,436 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 30,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 18,418 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 39.5) สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับมีการส่งมอบรถยนต์โครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า สำหรับภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 17,345 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เป็นผลจากการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำและก๊าซ NGV ซึ่งไม่เสียภาษี นอกจากนี้ ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,834 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณบุหรี่ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 6,941 และ 4,268 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 และ 11.7 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.3 และ 25.7 ตามลำดับ) เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อเดือนกันยายน 2556
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 62,091 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,509 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.2) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,468 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.2 ซึ่งมีสาเหตุจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว โดยมูลค่าการนำเข้า ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557) หดตัวร้อยละ 10.3 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 100,052 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,597 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 37.8) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ / เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.ปตท. การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ. กสท โทรคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 76,601 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.4) สาเหตุสำคัญมาจากการส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้า จำนวน 5,929 ล้านบาท และรายได้สัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 5,740 ล้านบาท
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 4,441 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 453 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุที่สูงกว่าเป้าหมาย
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 167,303 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,627 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.0 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 125,633 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,877 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 41,670 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,250 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.6
2.7 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 8,078 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,271 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.6
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 9,085 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,190 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 34,315 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,415 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่สูงกว่าประมาณการ (ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้หักด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3569
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 38/2557 16 พฤษภาคม 2557--