รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 22, 2014 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. นักท่องเที่ยวสิงคโปร์ยันมาเที่ยวไทย

2. ภาคเอกชนเชื่อกฎอัยการศึกไม่กระทบส่งออก

3. BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษขณะที่ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน

1.นักท่องเที่ยวสิงคโปร์ยันมาเที่ยวไทย
  • บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่ง ระบุว่า การตัดสินใจของกองทัพไทย ในการบังคับใช้กฎอัยการศึกเมื่อวานนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงขนาดที่ทำให้ชาวสิงคโปร์ ยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยววันหยุดในกรุงเทพฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.0 ล้านคน หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุด ที่ร้อยละ -18.8 -13.5 และ -20.0 ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์มีจำนวนทั้งสิ้น 57,530 คน ในเดือนเมษายน 57 หรือ หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี
2. ภาคเอกชนเชื่อกฎอัยการศึกไม่กระทบส่งออก
  • สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า แม้ประเทศไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกจะไม่ส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยให้ลดลง แต่แนวโน้มทางการเมืองที่ดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้น และมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ในปี 57 หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี มาจากสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าเกษตรกรรม เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ ยังคงขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่ม CLMV ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 20 พ.ค. 57 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.4 และคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 236.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
3. BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษขณะที่ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษและประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่ายังคงมีการฟื้นตัวปานกลาง รวมทั้ง BOJ จะยังคงดำเนินการในตลาดเพื่อเพิ่มฐานเงินที่อัตราประมาณ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี ขณะที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น รายงานว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 8.089 แสนล้านเยนในเดือน เม.ย. 57 ทำสถิติขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ BOJ ที่ยังคงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ต่ำ (ช่วงร้อยละ 0.0 - 0.1 ต่อปี) ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้มีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 55 จากการบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน เม.ย. 57 นอกจากนี้ ปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังมานานของญี่ปุ่นสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 56 โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งภาพรวมตลาดการจ้างงานภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราว่างงานในเดือน มี.ค. 57 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับภาคการค้าที่มีการขาดดุลการค้าต่อเนื่องมีสาเหตุสำคัญจากการสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิในปี 54 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิได้รับความเสียหายรุนแรงและเตาปฏิกรณ์ที่เหลืออยู่ทั้งหมดต้องทยอยปิดตัวลงชั่วคราวหลังจากนั้นเพื่อเข้ารับการตรวจสอบสภาพ ขณะที่การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ