รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 23, 2014 10:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 ต่ำที่สุดในรอบ 58 เดือน

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด

3. อัตราการว่างงานไต้หวันเดือน เม.ย. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 71 เดือน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 ต่ำที่สุดในรอบ 58 เดือน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 84.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 84.7 จุด เล็กน้อย และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 58 เดือน หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 52 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเม.ย. 57 คือ ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากความผันผวนทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งการขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความผันผวนทางการเมืองในปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน เม.ย. 57 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 59.7 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยระยะสั้น โดยหากเกิดความชัดเจนสำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างเร็ว เนื่องจากเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยด้านเสถียรภาพภายใน อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน เม.ย. 57 ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่เสถียรภาพภายนอก สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัด ณ เดือน มี.ค. 57 เกินดุลราว 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 9 พ.ค. 57 อยู่ที่ 168.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน (เบื้องต้น) จัดทำโดย HSBC เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด เพิ่มขึ้นจาก 48.1 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวในอัตราที่ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีดังกล่าว อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นและอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยแม้ดัชนีฯ จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงหดตัวอยู่ แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทางการจีนตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลง ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ดัชนีฯ มีสัญญาณบวกในหลายมิติ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ และดันีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก รวมถึงราคาผลผลิตได้กลับมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังควรจับตามองพัฒนาการของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างใกล้ชิด โดยต้องพิจารณาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบ อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. อัตราการว่างงานไต้หวันเดือน เม.ย. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 71 เดือน
  • สำนักงบประมาณและสถิติไต้หวันรายงานจำนวนผู้ว่างงานไต้หวัน เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 449,000 คน หรือคิดเป้นอัตราว่างงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม (11.5 ล้านคน) ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 เดือน สะท้อนภาคการจ้างงานรวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีทิศทางฟื้นตัวดีต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการบริโภคซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ53.3 ของ GDP ปี 56 โดยล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการบริโภคส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ภาคการส่งออก (สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 74.7 ของ GDP) ยังคงมีความเสี่ยงสูง แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอลง อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไต้หวันได้ในช่วงที่เหลือของปี ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ สศค. คาดว่าในปี 57 เศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 3.2 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ