รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2014 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง ระบุ ทหารยึดอำนาจยังไม่กระทบเครดิตไทย

2. ยันการส่งออกไปสหรัฐ-ยุโรปไม่ถูกกระทบ

3. ยอดขายบ้านสหรัฐฯ กระเตื้องครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

1. บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง ระบุ ทหารยึดอำนาจยังไม่กระทบเครดิตไทย
  • บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุว่า หากการยึดอำนาจโดยทหารได้รับการยอมรับและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลและการเลือกตั้งทั่วไปในที่สุด จะเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวสำหรับเครดิตเรตติ้งของประเทศไทยทั้งในเรื่องเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้ ฟิทช์ เรตติ้งยังคงเรตติ้ง 'BBB+' สำหรับเครดิตประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ฟิตช์ เรตติ้งเตรียมที่จะปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ของไทยในปี 57 จากร้อยละ 2.5 เนื่องจากประเด็นทางเมืองและการหดตัวของ GDP ในไตรมาสแรกที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนแรกปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 46.1 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60.0 สอดคล้องกับเสถียรภาพต่างประเทศที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งเช่นกัน สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงที่ 168.8 ในเดือน เม.ย.57 สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ในประเด็นเศรษฐกิจคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความชัดเจนของการดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงโครงการอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค.57) จะมีการปรับผลประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 57
2. ยันการส่งออกไปสหรัฐ-ยุโรปไม่ถูกกระทบ
  • ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องแสดงออกให้ประชาคมโลกรับรู้ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ทางการสหรัฐจะแยกแยะระหว่างความสัมพันธ์ทางการค้ากับการเมืองว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันดังนั้น ยอดส่งออกไปสหรัฐจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี ขณะที่คู่ค้าที่เดินทางมาชมงานแสดงสินค้า Thaifex-World of Food 2014 ในไทย ยังสั่งซื้อสินค้าตามปกติ ไม่ได้ตื่นตระหนกและสอบถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยแต่อย่างใด โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 ตามเป้าหมาย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์รัฐประหารในไทย ณ วันที่ 22 พ.ค. 57 อาจส่งผลลบในเชิงจิตวิทยาต่อประเทศคู่ค้าการส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 15 ที่มีสัดส่วนในปี 56 ถึงร้อยละ 10.0 และ 8.8 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากการประกาศอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ทำให้คาดว่า จะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อภาคการส่งออกไทย ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 และ 4.8 ตามลำดับ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และไก่แปรรูป นอกจากนี้ สศค. คาดว่า ภาคการส่งออกไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57) อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับผลประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 57
3. ยอดขายบ้านสหรัฐฯ กระเตื้องครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
  • ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 433,000 หลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 407,000 หลังเป็นการกระเตื้องขึ้นครั้งแรกหลังยอดขายลดลง 2 เดือนติดต่อกัน โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาจากแถบ Northeast เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาด้วยแถบ Midwest เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21 และฝั่ง South ร้อยละ 13
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ เดือนที่ผ่านมายังไม่สามารถบอกได้ชัดได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากแนวโน้มตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมายอดขายบ้านใหม่มีความผันผวน คือ เป็นการฟื้นตัวเป็นขาขึ้นสลับกับการหดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ครั้งวิกฤติจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ทั้งนี้ สอดคล้องกับมุมมองจากทางธนาคารกลางสหรัฐฯที่ยังมองว่าตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นตามหลังภาคการผลิตและตลาดแรงงานที่กำลังฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนของสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากการสนับสนุนของธนาคารกลาง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ