รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2014 11:18 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ ในเดือน เมษายน 57 ได้จำนวน 134.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนเม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวร้อยละ -7.7
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 84.0
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน ที่จัดทำโดย HSBC เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ญ ระดับ 53.9

Indicator next week

Indicators           Forecast           Previous
Apr : MPI (% yoy)      -7.0              -10.4

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาด และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ส่งกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวมาผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น

Economic Indicators: This Week

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และเมื่อขจัดผลของฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA) ตามการหดตัวของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ -3.0 และร้อยละ -7.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง รวมถึงปัจจัยความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศส่งสัญญาณหดตัวทั้งการส่งออกและการนำเข้าสินค้าที่ร้อยละ -0.4 และ -8.5 ตามลำดับ หากพิจารณาเศรษฐกิจด้านการผลิต พบว่าหดตัวเกือบทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -2.7 และร้อยละ -12.4 ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร หดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่ร้อยละ -3.1 จากปัญหาการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเมษายน 57 ได้จำนวน 134.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 16.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการปรับลดอัตราภาษีที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงทำให้การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากฐานดอกเบี้ย (ภ.ง.ด. 2) ได้ลดลงประกอบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการจัดเก็บภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ที่ลดลง และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ชะลอลง ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - เม.ย.57) ได้จำนวน 1,075.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 32.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 2.9
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลงสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่ส่วนอุปทานเริ่มกลับมาเปิดขายใหม่มากขึ้นสะท้อนได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน มี.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนเม.ย. 57 มีมูลค่า 56.6 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัว ร้อยละ -5.4 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -10.0 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 5.5 จากเดือนก่อนหน้า) ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.4 เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากไปแล้วในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มทรงตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน มี.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.7 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 58 เดือน เป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากการที่ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบและพลังงาน และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

Economic Indicators: Next Week

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -10.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาด และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ส่งกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวมาผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดขายบ้านมือสอง เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 4.21 แสนหลัง คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคากลางบ้านปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 201,700 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 8 เดือน
China: improving economic trend
  • ราคาบ้าน เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยแม้ราคาบ้านใน 69 เมืองจาก 70 เมืองจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมาก เป็นสัญญาณว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และปักกิ่ง ขยายตัวร้อยละ 11.4 11.0 11.0 และ 8.9 ตามลำดับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดย HSBC (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด เพิ่มขึ้นจาก 48.1 จุดในเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวในอัตราชะลอลง
Japan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57 ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง ซึ่งจากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราต่ำนั้นทำให้ดุลการค้าญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. 57 ขาดดุลลดลงอยู่ที่ -8.1 แสนล้านเยน
Eurozone: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่อง แม้จะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 53.9 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 53.4 และ 53.5 ตามลำดับสะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องนอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 78 เดือน มาอยู่ที่ระดับ -7.1 สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยูโรโซนยังคงประสบกับปัญหาอัตราการว่างงานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้จะเริ่มลดลงบ้าง โดยในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 11.8 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
Malaysia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ5.1 ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 และ 7.9 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.2 และ 5.7 ตามลำดับ ด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดภาคการสื่อสารที่หดตัว เป็นสำคัญ
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) คงที่จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 เช่นกัน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.0 จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมชีวเคมี ในขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อน และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ด้านการค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.9 จากการส่งออกไปยูโรโซนที่หดตัวร้อยละ -6.4 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 15.3 โดยสรุปดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 เกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
Taiwan: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงานทั้งสิ้น 449,000 คน ลดลง 14,000 คน จากเดือนก่อนหน้า หรือลดลง 15,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปี
Hong Kong: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ต่อเนื่องจากร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 2.0 3.0 และ 1.0 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 5.3 และ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านเสถียรภาพ อัตราว่างงาน เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.2ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า และต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและที่อยู่อาศัยที่ลดลงเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงต้นสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 22 พ.ค. 57 ปิดที่ 1,405.21 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 35,872 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนสถาบัน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อย ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 12,736 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 10 2 ปีขึ้นไปปรับตัวสูงขึ้น ประมาณ 1-10 bps.จาก0แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับ US Treasury โดยนักลงทุนยังคงกังวลกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ 32.57 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 4,709 ล้านบาท (ไม่รวม 32.37 พันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 22 พ.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยนและหยวน ในขณะที่เงินยูโรและเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.20 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 22 พ.ค. 57 ปิดที่ 1,293.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,291.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ