นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.00 น. ของประเทศไทย R&I ได้แถลงข่าวยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) และสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ แต่ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นลบ (Negative Outlook)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม กองทัพไทยได้เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศที่ตกอยู่ในวิกฤตทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยการเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปฏิรูปการเมืองภายใต้การปกครองของกองทัพ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทางที่กองทัพคาดการณ์หรือไม่ หากการจัดการด้านการคลังและเศรษฐกิจยังไม่เป็นไปตามปกติและการปฏิรูปการเมืองไม่มีความคืบหน้า เศรษฐกิจไทยจะยังคงหยุดชะงักต่อไป รวมถึงรากฐานทางเศรษฐกิจอาจอ่อนแอลงในระยะกลางถึงยาวได้ R&I จำเป็นต้องจับตามองพัฒนาการในด้านต่างๆและปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือเป็นลบ
กองทัพได้ระงับใช้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวและจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่ง คสช. แถลงว่า จะเข้ามาดูแลกระบวนการอนุญาตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการดำเนินงานด้านงบประมาณที่ได้ล่าช้าไป รวมถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ด้วย หากความสงบเรียบร้อยกลับคืนมาและการบริหารจัดการฟื้นตัว เศรษฐกิจอาจได้รับผลเชิงบวกเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจ
ตามที่อ้างอิงจากกองทัพ การเลือกตั้งทั่วไปจะถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง และต่อมาในที่สุดประเทศจะกลับคืนสู่การปกครองของประชาชน อย่างไรก็ดี เบื้องหลังของวิกฤตทางการเมือง ได้แก่ ความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีรากฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ระหว่างพื้นที่เมืองกับชนบท บนระบอบประชาธิปไตยแบบอุดมคติที่รวมถึงระบบการเลือกตั้ง ซึ่ง R&I เห็นว่า การแก้ไขปัญหาพื้นฐานและจัดตั้งระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพนั้นไม่ง่าย
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตที่เบื้องต้นประกอบด้วยบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งเติบโตจากการลงทุนโดยตรง ในมุมมองของ R&I เห็นว่า ความกังวลที่อาจจะเกิดความถดถอยของโครงสร้างการเจริญเติบโตของ ภาคการผลิตมีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เสถียรภาพทางการเมืองได้ลดลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ส่งผลให้การดำเนินนโยบายเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง รวมถึงมาตรการในการขยายโครงสร้างพื้นฐานและทำให้ภาคการส่งออกเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
หากการปฏิรูปทางการเมืองภายใต้การปกครองของกองทัพขับเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้ามกับประชาธิปไตยหรือการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของกองทัพยืดเยื้อออกไป ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปอาจออกมาวิจารณ์กองทัพรุนแรงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยกับประเทศเหล่านี้ รวมถึงการลงทุนทางตรง ทั้งนี้ R&I จะติดตามการจัดการด้านเศรษฐกิจการคลังภายใต้การปกครองของกองทัพและแนวโน้มทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามว่าการปฏิรูปจะดำเนินไปในแนวทางที่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองในระยะกลางถึงยาวหรือไม่
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505
--กระทรวงการคลัง--