รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 29, 2014 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ เผย ตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย. ติดลบ 0.87 %พร้อมคงเป้าส่งออกปีนี้โต 5%เชื่อรับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น

2. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. หดตัวร้อยละ -3.9

3. หอการค้าเยอรมันปรับลดเป้าส่งออกเยอรมันปีนี้ลงเหลือร้อยละ 4.0

1. กระทรวงพาณิชย์ เผย ตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย. ติดลบ 0.87%พร้อมคงเป้าส่งออกปีนี้โต 5%เชื่อรับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน เม.ย. 57 ติดลบร้อยละ 0.87 โดยลดลงจากเดือน มี.ค.ที่ติดลบร้อยละ 3.12 โดยมีมูลค่า 17,249.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในเดือน เม.ย.สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมในภาพรวมการส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่การส่งออกสินค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากไตรมาสแรกในทุกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 56 โดยหดตัวลงที่ร้อยละ 7.2 และ 5.6 ต่อปี จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกสินค้าเดือน เม.ย. 57 สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.2 โดยสินค้ากลุ่มสินแร่ เชื้อเพลิงและทองคำ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 และ 5.6 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวที่ร้อยละ1.5 และ 4.8 ต่อปี ขณะที่สินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 7.2 ต่อปี อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 การส่งออกของไทยได้รับอานิสสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 และ 4.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ภาคการส่งออกไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57) อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับผลประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 57
2. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. หดตัวร้อยละ -3.9
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. หดตัวร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของการผลิตยานยนต์ เบียร์ Hard Disk Drive เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือน เม.ย.57 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงจากตลาดในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีโรงงานประกอบรถยนต์จะหยุดการผลิตเพราะมีเทศกาลวันหยุดหลายวัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวในเดือน เม.ย. 57 มาจากสองอุตสาหกรรมหลักได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -27.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานสูงของปีที่แล้วที่มีการเร่งการผลิตในช่วงปีที่แล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว 2) อุตสาหกรรมอาหารที่หดตัวร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตเบียร์ที่หดตัวร้อยละ -10.0 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง โดยเฉพาะกุ้งติดลบไปกว่าร้อยละ -30.0 จากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันของเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ในเดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.9 หลังจากหักผลทางฤดูกาล แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมไทย
3. หอการค้าเยอรมันปรับลดเป้าส่งออกเยอรมันปีนี้ลงเหลือร้อยละ 4.0
  • หอการค้าเยอรมันได้ปรับลดประมาณการขยายตัวการส่งออกเยอรมันในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 4.0 จากเดิมร้อยละ 4.5 จากผลกระทบของค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นและวิกฤติยูเครนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของเยอรมันที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มีสาเหตุสำคัญจากวิกฤติความขัดแย้งในยูเครนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเยอรมัน โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 และหดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้ออุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 57 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 57 ที่หดตัวร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมันยังมิทิศทางการเติบโตที่ดี โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 เติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยเป็นผลของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 และการลงทุนทั้งการลงทุนหมวดเครื่องมือที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และการลงทุนหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ